จากกรณีของคอนโดมิเนียมหรูย่านอโศก ที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ส่งผลให้มีผ่านมามีบางเพจออกมาเผยแพร่ว่ามี 6 คอนโดมิเนียมหรูย่านใจกลางเมืองที่เช่าพื้นที่ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)เป็นทางเข้าออกโครงการ มีความเสี่ยงที่จะถูกทุบ โดย 1 ในจำนวนดังกล่าวคือ วิสซ์ดอม อเวนิว รัชดาลาดพร้าวซึ่งพัฒนาโดย บริษัท วิซดอม พินนาเคิล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในเครือ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(MQDC)
นายอัษฎา แก้วเขียว
โดยนายอัษฎา แก้วเขียว กรรมการ บริษัท วิซดอม พินนาเคิล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในเครือบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(MQDC)ในฐานะผู้พัฒนาโครงการวิสซ์ดอม อเวนิว รัชดาลาดพร้าว เปิดเผยว่า ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงของโครงการวิสซ์ดอม อเวนิว รัชดาลาดพร้าวดังนี้

-ข้อเท็จจริงของที่ดินโครงการ วิสซ์ดอม อเวนิว รัชดาลาดพร้าว

โครงการวิสซ์ดอม อเวนิว รัชดาลาดพร้าวตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 13046 และ 13062 ซึ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 13046 เป็นที่ดินที่มีการเชื่อมทางเข้าออกของโครงการสู่ถนนลาดพร้าว มีสิทธิเดิมสามารถขึ้นอาคารขนาดใหญ่พิเศษและอาคารสูงตามกฎหมายควบคุมอาคารได้อย่างถูกต้องอยู่แล้ว เพราะมีด้านหน้าของที่ดินเกินกว่า 12 เมตรติดถนนสาธารณะคือถนนลาดพร้าวมาตลอด ถือเป็นสิทธิดั้งเดิมที่เจ้าของที่ดินมีอยู่แต่ต้น

-ทางเข้าออกของโครงการ

เมื่อมีโครงการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ทางรฟม.ได้ออกประกาศเรื่อง กำหนดประเภทการขออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นทางผ่าน เพื่อให้เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน สามารถใช้ที่ดินของ รฟม.ที่เวนคืนมานั้นเป็นทางผ่านของที่ดินออกสู่ถนนสาธารณะ เพื่อพัฒนาที่ดินเป็นโครงการอาคารขนาดใหญ่พิเศษหรืออาคารสูงได้ตามสิทธิเดิมที่เคยมี

ที่ดินโฉนดเลขที่ 13046 จึงมีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศของ รฟม. ทุกประการ เจ้าของที่ดินได้รับใบอนุญาตให้ผ่านทางได้ตามประกาศ โดยในช่วงแรกเจ้าของที่ดินเดิมได้สิทธิผ่านเข้าออกขนาดกว้าง 4.5 เมตร ตามขนาดความต้องการใช้ประโยชน์ประเภทบ้านอยู่อาศัย และภายหลังเจ้าของที่ดินเดิมได้แจ้งความประสงค์เปลี่ยนประโยชน์การใช้ที่ดินเป็นการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารขนาดใหญ่พิเศษและอาคารสูง จึงได้รับอนุญาตให้ขยายขนาดทางเข้าออกและอนุญาตให้ผ่านทางเป็น 12.5 เมตร ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่บริษัทฯยังไม่ได้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน และใบอนุญาตที่ออกตามประกาศของ รฟม. จึงยังคงมีผลบังคับใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ ที่ดินมาจากเจ้าของเดิมในปี 2557 บริษัทฯ จึงได้รับโอนสิทธิในการพัฒนาที่ดินและสิทธิในการใช้ที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่านต่อมาจากเจ้าของที่ดินเดิมอย่างสมบูรณ์

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*