ซีวิลเอนจิเนียริงฯ เผยทิศทางธุรกิจครึ่งปีหลัง 2566 เตรียม Backlog พร้อมเดินหน้าต่อเนื่องไม่หวั่นงานใหม่จะออกล่าช้า เตรียมขยายสัดส่วนงานเอกชนเพิ่มอาทิ กลุ่มพลังงานทดแทน – อสังหาริมทรัพย์ เล็งศึกษาจับมือพันธมิตรเพิ่มโอกาสขยายงาน หนุน Backlog โตตามเป้า แตะ 20,000 ล้านบาท ชูกลยุทธ์ควบคุมต้นทุนก่อสร้าง การบริหารจัดการสภาพคล่องภาพรวมของโครงการ มุ่งเน้นงานก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และมีความปลอดภัย ควบคู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรแข็งแกร่ง มั่นใจรายได้ตามเป้า 6,000 ล้านบาท
นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข
นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานช่วงครึ่งปีหลัง 2566 ว่า บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตต่อเนื่อง โดยมีแผนการส่งมอบงานก่อสร้างในมือ อาทิ งานประเภทก่อสร้างทางรถไฟและทางรถไฟความเร็วสูง พร้อมเข้าประมูลและรับงานใหม่ ซึ่งนอกจากงานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ และเป็นผู้รับเหมาชั้นพิเศษ บริษัทยังขยายสัดส่วนการเข้ารับงานภาคเอกชนที่มีความหลากหลายต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มพลังงานทดแทน และ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยตั้งเป้าปี 2573 จะเพิ่มสัดส่วนการรับงานภาคเอกชนเป็น 20% จากปัจจุบันมีเพียง 5% เท่านั้น ส่วนงานภาครัฐจะมาอยู่ที่ 80% จากปัจจุบันที่ 95% เพื่อทำให้รายได้ของบริษัทฯเกิดความสมดุล และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2573 ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 10,000 ล้านบาท

โดยกลุ่มภาคเอกชนในธุรกิจอสังหาฯที่สนใจให้บริษัทฯเข้าไปรับงานก่อสร้างนั้น มีทั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(Eastern Economic Corridor:EEC) และโครงการแนวราบ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในช่วงต้นปี 2567

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีการศึกษาความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจก่อสร้างทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมศักยภาพการเข้ารับงานใหม่ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านงานก่อสร้างและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีทั้งประเทศในแถบเอเชียและยุโรป  รวมถึงการเพิ่มโอกาสการเข้าประมูลโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) เพื่อสร้างการเติบโตและส่งผลให้มูลค่างานในมือ (Backlog) เพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะโครงการทางด่วน กะทู้-ป่าตอง ที่บริษัทฯยังสนใจ แม้ว่าการเปิดขายซองครั้งล่าสุด ไม่มีผู้เข้ามาซื้อซอง ซึ่งประเด็นดังกล่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อทำให้เกิดความน่าสนใจในการลงทุนมากขึ้น

ขณะเดียวกันบริษัทฯมีงานที่ชนะประมูลและอยู่ระหว่างรอการทยอยเซ็นสัญญาอีก 6 โครงการ แบ่งเป็นงานก่อสร้างถนน และรถไฟฟ้าความเร็วสูง มูลค่ารวมกว่า 13,000 ล้านบาท ทำให้สิ้นปี 2566 นี้ บริษัทฯจะมี Backlog รวม 24,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ไปจนถึงปี 2569 ส่วนงานประมูลใหม่ยังคงต้องรอติดตามความชัดเจนของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งปัจจุบันในช่วงที่อยู่ระหว่างรอการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ยังไม่สามารถเดินหน้าเปิดประมูลได้ และคาดหวังว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะสามารถได้ข้อสรุปได้ไม่นานมากเกินไป เพราะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

“ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนงานก่อสร้างแบ่งเป็น งานก่อสร้างทางรถไฟและทางรถไฟความเร็วสูง 40%, งานก่อสร้างทางหลวง ทางต่างระดับ และทางพิเศษ 40%, งานก่อสร้างฟลัดเวย์ 20% และเชื่อมั่นในหลักการบริหารองค์กรด้วยความถูกต้องโปร่งใส พร้อมปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ การมีปริมาณงานในมือที่พร้อมรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง ความสามารถในการควบคุมต้นทุน การบริหาร จัดการ Supply Chain ที่ดี และ พร้อมเปิดรับโอกาสเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรและแรงงานก่อสร้างให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับองค์กรและประเทศ จากทิศทางการดำเนินงานทั้งหมด ทำให้บริษัทมีความมั่นใจว่าจะสามารถสร้างการเติบโตของรายได้ตามเป้าหมายที่ 6,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน” นายปิยะดิษฐ์ กล่าว

นายปิยะดิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีหลัง 2566 คาดว่าจะทำได้ดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากการทยอยส่งมอบงานมากขึ้น โดยเป็นงานก่อสร้างทางรถไฟและทางรถไฟความเร็วสูงเป็นหลัก ปัจจุบันบริษัทมูลค่างานรอโอน (Backlog) รวมกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้เข้ามาในช่วงครึ่งปีหลังส่วนหนึ่ง ทำให้รายได้ของบริษัทในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมาย  6,000 ล้านบาท

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*