อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมั่นใจนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท รัฐบาลทำได้-ใช้เม็ดเงิน 5 แสนล้านบาทได้เพียงพอแน่นอน เชื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้แรง-เร็ว ตั้งแต่ไตรมาส 1- 2 ปี 67 ส่งผลรายได้พลิกฟื้น เชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน”เป็นนายกฯที่มีสไตล์การทำงานใช้แนวคิดแบบเอกชนด้านธุรกิจ ทำงานไว สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันได้อย่างรวดเร็ว
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นนโยบายที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เคยหาเสียงไว้ ดังกล่าวนโยบายดังกล่าวที่แจกเงินคนไทยทุกคน แม้ว่าจะใช้เงินถึง 500,000 ล้านบาท แต่ก็ถือว่าเป็นนโยบายสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่าในเวทีการเมือง ณ ขณะนี้ การที่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเป็นแนวนโยบายที่ออกจากปากของนายกรัฐมนตรีเอง โดยขณะนี้สังคมไทยจะมีวัฒนธรรมใหม่ คือ ใครพูดอะไรแล้วไม่ทำตามคำพูดก็จะเป็นภาพที่ไม่ควรจะดำเนินการ ดังนั้นนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท รัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำแน่นอน เพียงแต่ว่ารูปแบบการดำเนินการจะเป็นในรูปแบบไหน และเชื่อว่ามีเม็ดเงินที่เพียงพออย่างแน่นอน เพราะว่ารัฐบาลใช้โครงสร้างของสมัยรัฐบาลรักษาการณ์พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี วงเงิน 3 ล้านล้านบาท และมีการผันงบประมาณ 7 แสนล้านบาท ซึ่งงบประมาณ 5 แสนล้านบาทจะมีเงินเพียงพออยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะต้องแปรญัตติ หรือเจรจากับสำนักงบประมาณว่าโครงการบางโครงการที่เคยวางแผนจะดำเนินการในปี 2567 อาจจะต้องชะลอออกไป เพราะว่าจะต้องนำนโยบายเงินดิจิทัล 5 แสนล้านบาทมาดำเนินการแทน ซึ่งจะมีทั้งงบกลาง ซึ่งอยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งมีเงินส่วนหนึ่งและมีงบประมาณของโครงการต่างๆของกระทรวงต่างๆก็อาจจะต้องตัดออกไป ซึ่งสามารถดำเนินการได้

“นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้นสามารถทำได้อย่างแน่นอน เพียงแต่ว่ารัฐบาลจะต้องไปคุยกับสำนักงบประมาณ,สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,กระทรงการคลัง และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ว่าการดำเนินนโยบายเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น ควรใช้ทันที 100% เต็ม หรือควรจะทยอยใช้ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม” รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว

รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนคำถามต่อมาที่คนมักจะถามว่าจะเป็นหนี้สาธารณะต่อหรือไม่นั้น คำตอบคือไม่น่าจะเป็น เพราะว่าตัวงบประมาณ มีกรอบในการทำงบประมาณโดยสำนักงบประมาณคือวินัยทางการฝาก ไม่ขาดดุลงบประมาณเกินกว่า 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ดังนั้นการที่รัฐบาลได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตและใช้งบประมาณขาดดุลได้สูงสุดเท่าไหร่ จึงเป็นที่มาของ 7 แสนล้านบาท และมีข่าวจากสำนักงบประมาณว่า อาจจะขาดดุลได้อีกเล็กน้อย ถ้าจะเพิ่มวงเงินเข้ามาขาดดุลได้อีกในระเบียบวินัยทางการฝาก ดังนั้นการขาดดุลงบประมาณจึงไม่สูงเกินไป และที่สำคัญตอนนี้รัฐบาลไทยพยายามไม่ให้หนี้สาธารณะสูงกว่า 60%ของ GDP แม้ว่าขณะนี้จะอยู่ที่ 61% แต่ว่ามีพื้นที่ที่จะขยายหนี้สาธารณะได้เป็น 70% ของ GDP หรือ 65% แต่เชื่อว่ารัฐบาลไม่น่าจะกู้หนี้ยืมสินเพิ่มเติม น่าจะใช้กรอบตรงนี้ได้เพียงพอ และเมื่อใช้เงิน 5 แสนล้านบาท สิ่งที่จะกลับมาก็คือ Vat 7% ซึ่งสิ่งที่จะเห็นคือคนจะนำเงินเหล่านี้ไปจับจ่ายใช้สอย ก็จะได้ภาษีมูลค่าเพิ่มกลับมาอย่างน้อย 30,000-35,000 ล้านบาท และในปีถัดไปก็จะได้เงินภาษีรายได้นิติบุคคลและเงินรายได้บุคคลธรรมดา เพราะว่าร้านค้าต่างๆมีรายได้มากขึ้น ประชาชนก็ถูกจ้างงานมากขึ้น ก็ทำให้รัฐบาลมีรายได้ชดเชย

“คำถามก็คือว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งจะมองได้ชัดๆว่าทุก 1 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลใช้เงินไป จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้นถึงจุด 5-จุด 7% นั้นหมายความว่าเศรษฐกิจไทยหากใช้เงิน 5 แสนล้านบาท ก็จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจขยายเศรษฐกิจได้ 2-3% เป็นอย่างน้อย โดยปี 2567 นักเศรษฐศาสตร์ไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตประมาณ 3-4% ดังนั้นในปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 5-7% ซึ่งตรงนี้ถือว่าสำคัญ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่างบประมาณจะสามารถใช้ได้ประมาณเดือนมกราคม หรือ เมษายน 2567 ดังนั้นเศรษฐกิจไทยก็จะมีแรงกระตุ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 หรือไตรมาสที่ 2 ซึ่งน่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีรายได้พลิกฟื้น ประชาชนก็จะมีรายได้ทั่วประเทศ เพราะว่าประชาชนจะมีการใช้เงินทันที สำหรับเงิน 5 แสนล้านบาท เมื่อลงไป อย่างน้อยในช่วงเดือนแรกๆน่าจะมีเงินสะพัดประมาณ 1 แสนล้านบาท”รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว

รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดที่สำคัญมากๆคือเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 1-2 โตแค่ 2.2% ซึ่งขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้เกิน 3% โดยมาจากเหตุผล 2 เรื่องคือ 1.เศรษฐกิจโลกไม่ดี ทำให้ภาคส่งออกไม่ดีขยายตัวติดลบ และ2.การที่มีรัฐบาลรักษาการณ์ โดยที่ไม่มีรัฐบาลตัวจริง ทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนและดูท่าทีรัฐบาลๆจะมีการลงทุนและใช้จ่ายประจำในอัตราติดลบ ดังนั้นในปลายเดือนกันยายนหรือต้นเดือนตุลาคม 2566 เงินจะเริ่มมีการใช้จ่ายมากขึ้น โดยงบประมาณของรัฐบาลตัวจริงที่มีอำนาจเต็ม เมื่อรัฐบาลมีการประกาศนโยบาย ทั้งเอกชนไทย-ต่างชาติ จะมีการเริ่มเข้ามาลงทุน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 จะได้รับแรงกระตุ้น จากการท่องเที่ยว เพราะการเมืองจะเริ่มนิ่ง และการลงทุนจากภาคเอกชนและชาวต่างชาติน่าจะโดดเด่นขึ้น และที่สำคัญถ้ารัฐบาลมีการโรดโชว์ในต่างประเทศ มีการโปรโมทการท่องเที่ยว-การลงทุน ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 มีความคึกคักมากขึ้น อีกทั้งประชาชนจะมีความมั่นใจว่าเมื่อมีรัฐบาลตัวจริงแล้ว เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น ความเชื่อมั่นจะกลับมา กล้าจับจ่ายใช้สอย การบริโภคน่าจะดีขึ้น และการใช้จ่ายของภาครัฐไม่ว่าการลงทุนหรืองบประมาณซึ่งใช้ของปี 2567 โดยใช้โครงสร้างของปี 2566 ไปก่อน ก็น่าจะเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ และในปี2567 เมื่อใช้เงินดิจิทัล เศรษฐกิจก็จะถูกกระตุ้น จึถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมถ้าใช้ในต้นปีก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้แรงและเร็ว แต่ถ้าใช้ในเดือนเมษายน ก็เป็นเวลาที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแรงกระตุ้นและเป็นการรองรับภัยแล้งที่จะมีขึ้นในปี 2567

อย่างไรก็ตามการที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ถือว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่า ดำเนินธุรกิจได้ประสบความสำเร็จ ประเทศไทยจะได้นายกฯที่มีแนวคิดทางด้านธุรกิจและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันได้อย่างรวดเร็ว จากประสบการณ์การทำงานในเชิงธุรกิจที่บริหารธุรกิจระดับแสนล้าน และได้รับการยอมรับ เพราะฉะนั้นคิดว่าตัวนายกฯมีความเข้าใจในการบริหารงานในการร่วมมือกับเอกชน และปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้ประเทศไทยได้มีศักยภาพการเติบโตได้อย่างโดดเด่นและรวดเร็ว

โดยหลักการแรกต้องมองก่อนว่านายกฯจะมีอำนาจเต็มพอสมควรภายใต้รัฐบาลผสม ก็คงจะเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเองว่า จะคัดสรรผู้ที่มีประสบการณ์ โดยรายชื่อของทีมเศรษฐกิจหรือทีมงานกระทรวงต่างๆจะเป็นผู้ที่เคยบริหารงานแผ่นดิน คืองานกระทรวงหรือเป็นผู้บริหารระดับสูงมาแล้ว ดังนั้นเมื่อรัฐบาลเข้ามา จะสามารถคุยกับข้าราชการและแปรงบประมาณเพื่อนำไปปฏิบัติได้ทันที ซึ่งในส่วนนี้ และบุคคลที่เข้าไปดำรงตำแหน่ง จะเป็นผู้ที่ทางพรรคคัดเลือกเข้าไปแล้วและต้องสร้างผลงานอย่างรวดเร็ว ภายใต้กระแสของประชาชนที่ต้องการให้ฟื้นเศรษฐกิจและต้องการให้มีรายได้เข้ามาในกระเป๋าของตนเองเร็วที่สุด ดังนั้นทางคณะรัฐมนตรีคงผ่านการคัดสรรมาแล้ว เพราะดูจากรายชื่อ ล้วนเป็นรัฐมนตรีที่เคยมีประสบการณ์จริงมาแล้ว และถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ ก็คาดว่าน่าจะมีทีมงานจากพรรคการเมืองเป็นที่ปรึกษาและให้ความเห็นในการบริหารบ้านเมือง เพราะฉะนั้นจะต้องมีความเชื่อนายกฯและเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้จะต้องสร้างเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเพื่อสร้างคะแนวความนิยมทางการเมือง ดังนั้นตนคิดว่าดูจากโผต่างๆที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นรายวัน แต่เมื่อดูแล้วก็น่าจะได้คนที่ดีมาเป็นรัฐมนตรี และสิ่งที่สำคัญคือจะเห็นว่านายกฯอาจจะนั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ซึ่งคิดว่าจุดแรกจะแสดงว่านายกมองว่าเรื่องเศรษฐกิจหรือเรื่องคลังเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของพรรคและพรรคร่วมรัฐบาล และที่สำคัญคือทำให้ประเทศไทยมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

“การที่เห็นนายกฯจะเข้าไปควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอง จะเห็นชื่อรัฐมนตรีช่วย ซึ่งอาจจะเป็นข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังมากก่อน ดังนั้นนายกฯจะมีผู้ที่ช่วยเหลือในเรื่องกฎระเบียบ การทำถูกต้องตามกฎระเบียบกฎหมาย และมีผู้ที่เข้าใจงาน และผูกพันกับอธิบดีกรมต่างๆ ทำให้งานกระทรวงสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และทำสำคัญคือการเป็นซีอีโอบริษัทจะมอบหมายงานให้ผู้บริหารระดับสูงและมอบเสร็จแล้ว ก็จะฟัง กลั่นกรองและมอบนโยบาย ซึ่งคิดว่าการทำงานของนายกฯถ้าควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นการทำงานที่ลงในรายละเอียดที่เป็นวาระสำคัญและมอบรัฐมนตรีช่วยในการเข้ามากลั่นกรองการทำงานร่วมกัน เมื่อนายกฯทำงานตั้งแต่ต้นทาง ก็จะทำให้การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เป็นไปอย่างรวดเร็ว หรือแม้กระนายกฯจะเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเอง ก็สามารถดำเนินการได้ เพราะการบริหารงานแต่ละประธานที่เป็นหัวหน้าทีม คือการมอบนโยบายและเป็นการรับฟังจากคณะกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งมาจากสายงานกระทรวงต่างๆที่อาจจะมานำเสนอภาพรวมแบบบูรณาการ ซึ่งคิดว่าสไตล์การทำงานของนายกฯน่าจะประยุกต์ใช้จากการทำงานของภาคเอกชนที่ซีอีโอจะมีการประชุมคณะกรรมการกลุ่มย่อยเยอะ”รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว

และที่สำคัญทีมงานของรัฐบาล โดยเฉพาะทีมงานของพรรคเพื่อไทย มีผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานทางด้านอดีตรองนายกฯทางด้านเศรษฐกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง และยังเป็นภาคเอกชนที่เป็นผู้วางนโยบายทางด้านเศรษฐกิจกับภาคเอกชนมามาก จึงเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล สามารถบริหารงานได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งคงต้องดูว่าจะใช้นโยบายด้านไหนเป็นหลัก ซึ่งคงต้องดูโผครม.และสไตล์การทำงาน แต่คิดว่าจะเป็นสไตล์การทำงานที่ใช้แนวคิดแบบเอกชน ทำงานรวดเร็วมาผสมผสาน และจากการที่เห็นนากยกฯลงพื้นที่อย่างรวดเร็วไปอย่างต่างจังหวัด ซึ่งจะเห็นการทำงานแบบเอกชนที่เข้าใจปัญหาและจะรีบทะลุปัญหา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*