อัลฟาแคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป  หรือ ACPG เปิดโมเดลธุรกิจบริหารสินทรัพย์ครบวงจร ทั้งธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ที่อยู่ในพอร์ตของธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ ครองแบ่งตลาด 2.1%จากมูลค่าตลาดรวม 2.7 แสนล้านบาทที่อยู่ในพอร์ตของบริษัทรับบริหารสินทรัพย์ทั้งหมด 62 บริษัท   อัพเดท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 6,350.6 ล้านบาท  

นายไมเคิล บีแคว๊ท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัลฟาแคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACPG เปิดเผยว่า บริษัทประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ครบวงจร ทั้งธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA)โดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) และดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทย่อย 2 แห่ง ได้แก่ บริษัทบริหารสินทรัพย์อัลฟาแคปปิตอล จำกัด (ALPHA) และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ไวร์เลส จำกัด (WAMC)  โดยในปี 2565 ที่ผ่านมาได้ซื้อสินทรัพย์หรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารรวมมูลค่า 1,500 ล้านบาท ส่วนในปีนี้รับซื้อสินทรัพย์เข้ามาในพอร์ตแล้วกว่า 1,200 ล้านบาท

โดยเฉพาะธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ทรัพย์สินรอการขายส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากการประมูลซื้อหลักประกันสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากการขายทอดตลาด หรือการตีทรัพย์ชำระหนี้ของลูกหนี้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบริษัท โดยจะเน้นสินทรัพย์ที่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกันและพิจารณาความต้องการของตลาด เพื่อให้จำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวได้ในมูลค่าที่เหมาะสม

ทั้งนี้บริษัทจะมุ่งสร้างการเติบโตโดยใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ เพื่อรองรับโอกาสในการเติบโตจากอุปทานของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา โดยจากรายงานการประเมินอุตสาหกรรม ณ เดือนสิงหาคม 2566 ที่จัดทำโดยบริษัทอิปซอสส์ จำกัด คาดการณ์ว่าภายหลังจากที่มาตราการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของธนาคารแห่งประเทศไทยสิ้นสุดลงในปี 2566 จะมีปริมาณสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบเพิ่มขึ้น

โดยปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งตลาด 2.1%จากมูลค่าตลาดรวม 2.7 แสนล้านบาทที่อยู่ในพอร์ตของบริษัทที่รับบริหารสินทรัพย์ทั้งหมด 62 บริษัท   ขณะที่ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาบริษัทมีสินทรัพย์รวม 5,919.8 ล้านบาท และ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 6,350.6 ล้านบาท  สินทรัพย์หลักในส่วนที่เป็น NPL ประมาณ 55%จะเป็นทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับสินทรัพย์ NPA ที่มีพอร์ตที่อยู่อาศัยประมาณ 60%

“บริษัท มีกระบวนการทำงานที่เป็นระบบส่งผลให้สามารถจัดหา บริหารจัดการ และสร้างกระแสเงินสดจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของทีมผู้บริหารและบุคลากรหลักที่ผ่านการร่วมงานกับ Joint Venture ระหว่าง General Electric Capital และ Goldman Sachs[1] ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงระดับโลก ประกอบกับบริษัทฯ มีกลยุทธ์การปรับโครงสร้างหนี้ที่หลากหลาย สามารถปรับให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ได้”

โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 บริษัทมีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับสุทธิเท่ากับ 3,383.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.2% เมื่อเทียบกับ ช่วงสิ้นปี 2565 และมีทรัพย์สินรอการขายสุทธิเท่ากับ 1,982.3 ล้านบาท ลดลง 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปี 2565 ขณะที่ปี 2565 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงาน 728.0 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 223.4 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงาน 311.1 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 138.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.95% และ  26.9% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้บริษัทประเมินว่าหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจอันเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของธนาคารแห่งประเทศไทยสิ้นสุดลงในช่วงสิ้นปี 2566นี้ จะมีปริมาณสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบเพิ่มขึ้น โดยประเมินได้จากการคาดการณ์ยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษของธนาคารพาณิชย์โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีจำนวน 1,123,485 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีจำนวน 436,238 ล้านบาท และคาดว่ายอดคงค้างสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของธนาคารพาณิชย์ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 จะมีจำนวน 492,303 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ซึ่งมีจำนวนเท่ากับ 465,026 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในประเทศไทยจากอุปทานของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้น

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*