หลังจากเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา  7 สมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย คณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” เพื่อยื่นข้อเสนอ 8 มาตรกการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก่อนหน้านี้มี 1 ข้อที่ถูกปัดตกไม่ผ่านความเห็นชอบไปแล้ว คือ การขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยกเลิกมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ Loan-to-Value: LTV เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ โดยธปท.ให้เหตุผลว่า บ้านหลังแรกสามารถกู้ได้100% และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สามารถเติบโตได้ด้วยตัวเอง สะท้อนจากผลประกอบการ ผลกำไรที่ออกมาของผู้ประกอบการแต่ละค่าย รวมถึงยังคงไม่มีการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ส่วนอีก 7 มาตรการที่เหลือยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล ล่าสุดมีข่าวดีว่าในช่วงไตรมาส 2นี้จะมีมาตรการที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลทยอยประกาศออกมาใช้เพื่อช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาฯ

นายพีระพงศ์ จรูญเอก  นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวในงานเปิดตัวงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 45 ว่า ในครึ่งปีแรกนี้น่าจะมีมาตรการกระตุ้นอสังหาฯที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลประกาศออกมาใช้ก่อนประมาณ 3-4 ข้อ โดยเฉพาะมาตรการที่ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หลังจากก่อนหน้านี้มาตรการ LTV ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขที่นำเสนอไป เพื่อต้องการสกัดการเก็งกำไร โดยเฉพาะการซื้อบ้านหลังที่ 2และหลังที่ 3 ทำให้ลูกค้ากลุ่มไม่ได้รับการสนับสนุนด้านสินเชื่อเหมือนกับบ้านหลังแรก

โดยหนึ่งในมาตรการที่น่าจะประกาศออกมาใช้ได้ก่อน คือ มาตรการขยายเพดานราคาของบ้านหลังแรกที่ได้รับการส่งเสริมลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ จากเดิมราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาทเพิ่มเป็นราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาททั้งบ้านและคอนโดฯ เพื่อช่วยเหลือคนมีรายได้น้อยถึงปานกลาง  และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับบ้านหลังแรก (ซอฟต์โลน) ร้อยละ 3 เป็นเวลา 5 ปีจากสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้ซื้อบ้านหลังแรกของผู้มีรายได้น้อย ส่วนมาตรการที่เหลืออีก 2-3 มาตรการคาดว่าจะทยอยออกมาในช่วงปลายปี เพราะต้องผ่านความเห็นชอบจากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก่อน

ส่วนกำลังซื้อของลูกค้าต่างชาติที่เข้ามาซื้อคอนโดฯในเมืองไทย ยังมีอยูต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่ยังครองแชมป์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุด แม้ว่าในช่วงที่เกิดโควิดกำลังซื้อจากลูกค้ากลุ่มนี้จะหายไปจากตลาดก็ตาม ประกอบกับอสังหาฯในเมืองจีนไม่น่าลงทุน ทำให้คนจีนหันมาซื้ออสังหาฯในเมืองไทยแทน ทั้งการอยู่อาศัยเองและเพื่อการลงทุน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ซื้อรายใหม่จากประเทศไต้หวัน รัสเซีย และพม่าเช้ามาเสริมอยู่ในระดับ Top10 โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารัสเซียขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับ Top 3 ส่วนกลุ่มลูกค้าไต้หวันอยู่ในอันดับ Top5

“ในโลกที่มีความขัดแย้ง ถือว่าประเทศไทยมีความเป็นกลางค่อนข้างสูงไม่ได้เลือกฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะนักธุรกิจที่อยู่ในประเทศที่ขัดแย้งหนีร้อนมาพึ่งเย็น หันมาซื้อที่อยู่อาศัยในเมืองไทยแทน ทั้งชาวรัสเซีย ยูเครน ฮ่องกง และไต้หวัน ขณะที่ประเทศไทยเป็นเมืองที่น่าอยู่ โดยเป็นประเทศด้านการท่องเที่ยว การรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ และมีค่าครองชีพไม่สูง ประกอบกับราคาอสังหาฯยังไม่สูงเมื่อเทียบกับปรระเทศอื่นๆและส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินแบบ Free Hold

ขณะที่ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสแรกของปี 2567 มีภาวะทรงตัวเหมือนกับไตรมาส 4 ของปี 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากกลุ่มคนซื้อได้รับปัจจัยกระทบด้านดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในระดับสูง และได้รับวงเงินกู้ในระดับต่ำ ทำให้ผู้ซื้อบางส่วนชะลอการตัดสินใจซื้อออกไป โดยเชื่อมั่นว่าหลังจากมาตรการอสังหาฯทยอยประกาศออกมาใช้ จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและความเชื่อมั่นในตลาดอสังหาฯให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*