ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ผ่านไปแล้วด้วยภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นทั้งการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน และรัฐบาล รวมไปถึงด้านการท่องเที่ยวซึ่งอาจจะยังต้องรอดูตัวเลขทางเศรษฐกิจอีกที แต่ตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้นขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ปี2560และมากกว่าช่วงเดียวกันของปี2560 โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมที่มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่มากขึ้นต่อเนื่องจากปี 2560 เนื่องจากผู้ประกอบการเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในช่วงขาขึ้น แม้ว่าจะเป็นการปรับขึ้นแบบช้าๆ ก็ตาม อีกทั้งทางฝั่งของกำลังซื้อก็ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน เพราะความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาวเริ่มมีมากขึ้น เพียงแต่ผู้ประกอบการยังไม่รีบร้อนเปิดขายโครงการใหม่ในไตรมาสที่ 1 อาจจะขอรอดูภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมของไตรมาสที่ 1 ก่อนจากนั้นจึงค่อยปรับตัวในไตรมาสที่ 2 เพื่อความมั่นใจในระยะยาว

 

คอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในไตรมาสที่ 1 ปี2561 มีทั้งหมดประมาณ 14,600 ยูนิตมากกว่าไตรมาสที่ 4 ปี2560 ประมาณ 5% แต่มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 35% แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของตลาดคอนโดมิเนียมที่มีต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วในปัจจุบัน เนื่องจากคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบันประมาณ 66% โดยผู้ประกอบการเลือกเปิดขายโครงการในทำเลนี้เพราะเป็นทำเลที่มีศักยภาพอยู่แล้วในปัจจุบันไม่ต้องรออีกหลายปีแบบทำเลตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอื่นๆ อีกอย่างเพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับโครงการตนเอง โดยทำเลที่มีโครงการเปิดขายใหม่ในช่วงไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมามากที่สุด คือ ทำเลตั้งแต่แยกพระราม 9 ขึ้นไปถึงสถานีรถไฟใต้ดินห้วยขวางเพราะมีคอนโดมิเนียมเปิดขายมากถึง 4,400 ยูนิตในทำเลนี้มากที่สุดในกรุงเทพมหานคร

ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการเน้นการเปิดขายโครงการในพื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอก นอกพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วในปัจจุบัน ดังนั้น คอนโดมิเนียมในระดับขาย 50,001 – 100,000 บาทต่อตารางเมตรในกรุงเทพมหานครจึงมีมากที่สุดในช่วงตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา แต่หลังจากที่การก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นในปี2559 ผู้ประกอบการจึงเริ่มมีการเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมในระดับราคา 100,001 – 150,000 บาทต่อตารางเมตรตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างมากขึ้นเพื่อสอดคล้องกับราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่คอนโดมิเนียมในระดับราคาอื่นๆ มีการขยายตัวไม่มากนัก เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องของราคาที่ดินที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนาโครงการราคาต่ำกว่า 50,000 บาทต่อตารางเมตรได้ และโครงการที่มีราคาขายมากกว่า 200,000 บาทต่อตารางเมตรก็มีการขยายตัวไม่มากเช่นกันเพราะว่ากำลังซื้อคอนโดมิเนียมในระดับนี้มีจำกัด

 

อัตราการขายคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในกรุงเทพมหานครในไตรมาสที่ 1 ปี2561 อยู่ที่ประมาณ 55% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้านี้เพราะว่าคนไทยยังคงไม่มั่นใจในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นหนี้สินระยะยาวอัตราการขายของโครงการที่เปิดขายใหม่จึงไม่มากเท่าใด โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลือกเปิดขายโครงการและจัดกิจกรรมทางการตลาดในเดือนมีนาคมมากที่สุดเพื่อลดการเปิดขายโครงการใหม่ในไตรมาสที่ 2 ที่อาจจะมีปัจจัยลบอื่นมาลดทอนกำลังซื้อ เช่น ค่าเล่าเรียนบุตรหลาน วันหยุดยาว เป็นต้น

 

ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานครยังคงอยู่ในทิศทางการขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างและที่จะสร้างใหม่ในอนาคต ผู้ประกอบการเน้นเปิดขายคอนโดมิเนียมในระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อยูนิตเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานครแต่ก็ยังคงหาซื้อที่ดินในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดในระดับ High-End ขึ้นไปให้ต่อเนื่อง กำลังซื้อคนไทยอยู่ในทิศทางที่มีการปรับตัวดีขึ้นกว่าที่ผ่านมาตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มฟื้นตัวแบบชัดเจนมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่อาจมีการปรับขึ้น   กำลังซื้อต่างชาติยังคงเข้ามาในตลาดคอนโดมิเนียมของกรุงเทพมหานครต่อเนื่องโดยเฉพาะกำลังซื้อคนจีนที่ผู้ประกอบการหลายรายพยายามเข้าไปขอมีส่วนแบ่งในกำลังซื้อกลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

 

ที่มาข้อมูล : คุณสุรเชษฐ กองชีพ นักวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์