กลุ่มซีพี แข่ง กลุ่มบีทีเอส ชิงดำประมูลรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน วงเงินรวม 2.2 แสนล้านบาท สัมปทาน 50 ปี

 

วันนี้ (12 พฤศจิกายน 2561) ณ สำนักบริหารโครงการระบบรถไฟฟ้า มักกะสัน การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดรับซองเอกสารการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา โครงการนี้มีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 2.2 แสนล้านบาท ปรากฎมีบริษัทเอกชนเข้ายื่นซองเอกสารเสนอราคา  จำนวน 2  ราย คือกลุ่มกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture)  และ. กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร

 

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เปิดขายเอกสารการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน – 9 กรกฎาคม 2561 ซึ่งมีบริษัทที่ให้ความสนใจเข้าซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จำนวน 31 ราย หลังจากนั้นได้จัดให้มีการประชุมชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจไปเมื่อวันที่ 23 – 24 กรกฎาคม 2561 และกำหนดรับซองข้อเสนอราคาในวันนี้ ซึ่งมีกลุ่มบริษัทเข้ายื่นข้อเสนอ จำนวน 2  ราย ประกอบด้วย

 

1.กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) , บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) , บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย)

2.กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย) , บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) , China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) , บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) , บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

 

เอกสารประกอบ คือ หลักประกันซองพร้อมกับซองข้อเสนอ มูลค่า 2,000 ล้านบาท, หนังสือมอบอำนาจ (เอกสารความเป็นตัวตนของผู้ยื่น) , รายการเอกสารที่บรรจุในซอง (List รายการเอกสาร) ที่ไม่ปิดผนึก และใบเสร็จรับเงินซื้อซองของผู้ยื่นข้อเสนอ อีกทั้ง ต้องชำระค่าธรรมเนียมการประเมินข้อเสนอให้แก่การรถไฟฯ เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาท และผู้ที่ยื่นเสนอผ่านการประเมินข้อเสนอจะต้องวางหลักประกันสัญญาที่ออกโดยธนาคารให้กับการรถไฟฯ ในวันที่เข้าทำสัญญาร่วมทุนเป็นมูลค่า 4,500 ล้านบาท เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุนของเอกชนคู่สัญญา สำหรับขั้นตอน การรับข้อเสนอเอกชนร่วมลงทุน มีดังต่อไปนี้

** อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ >> รฟท.สรุปยอดเอกชนไทย-ตปท.31ราย แห่ซื้อเอกสารโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน

** อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ >>ครม.เคาะแผนสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

** อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ >> บอร์ดอีอีซีเคาะแผนสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 แสนล้านบาทเชื่อม 3 สนามบินรับอีอีซี