กระทรวงคมนาคม โชว์ผลงานพร้อมเดินหน้าลงทุน 21 โครงการรวมมูลค่าการลงทุนกว่า 1.29 ล้านล้านบาท เปลี่ยนโฉมระบบคมนาคมไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขึ้นเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน  เตรียมเสนอครม.อนุมัติรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย-รถไฟทางคู่สายใหม่ในเดือนมีนาคม 2562 นี้

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (คค.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงานนิทรรศการและการเสวนาสร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี และส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านการคมนาคมขนส่งและความปลอดภัย ประจำปี 2562 ครั้งที่ 1ภายใต้ชื่อ “ONE Transport for All 2019 : Mobility Connect Technology” ว่ากระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ของประเทศ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580)        และยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558 – 2565 เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการระบบการขนส่ง เพิ่มประสิทธิภาพการเป็นประตูการค้าหลักและเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศ อำนวยความปลอดภัย สะดวก รวดเร็วในการเดินทาง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

ทั้งนี้ มีกรอบการดำเนินงานประกอบด้วย การบูรณาการระบบคมนาคมขนส่ง (Integrated Transport Systems) ให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงระหว่างรูปแบบการขนส่ง การบริการภาคคมนาคมขนส่ง (Transport Services) ให้มีมาตรฐานสากล และสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน การพัฒนาปรับปรุงกฎหมายและปฏิรูปองค์กร (Regulations and Institution) การพัฒนาบุคลากร (Human Resource Development) ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้พัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง (Technology and Innovation)

สำหรับในปี 2562 กระทรวงคมนาคมเร่งเดินหน้าโครงการทั้งทางราง ทางถนน ทางน้ำ และ ทางอากาศ รวม 21 โครงการ มูลค่า 1.29 ล้านล้านบาท (ลบ.) ดังนี้

โครงการรถไฟทางคู่ 8 โครงการ

  • ช่วงขอนแก่น – หนองคาย มูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท
  • ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี มูลค่า 3.7 หมื่นล้านบาท
  • ช่วงปากน้ำโพ – เด่นชัย มูลค่า 6.2 หมื่นล้านบาท
  • ช่วงเด่นชัย – เชียงใหม่ มูลค่า 5.9 หมื่นล้านบาท
  • ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี มูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาท
  • ช่วงสุราษฎร์ธานี – สงขลา มูลค่า 5.7 หมื่นล้านบาท
  • ช่วงหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ มูลค่า 8.1 พันล้านบาท
  • และช่วงบ้านไผ่ – นครพนม มูลค่า 6.7 หมื่นล้านบาท

 

 โครงการรถไฟความเร็วสูง  3 โครงการ

  • กรุงเทพฯ – นครราชสีมา มูลค่า 1.79 แสนล้านบาท
  • รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) มูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท
  • รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – หัวหิน มูลค่า 7.7 แสนล้านบาท

 

โครงการรถไฟฟ้า

  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – บางขุนนนท์ มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท
  • โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – ม.ธรรมศาสตร์ และสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช มูลค่ารวม 2.4 หมื่นล้านบาท

 

โครงการก่อสร้างทางพิเศษ

  • ก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองพระราม 3 – ดาวคะนอง –  วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก มูลค่า 3.1 หมื่นล้านบาท

 

โครงการทางด้านท่าเรือ (ทางน้ำ)

  • โครงการขยายท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มูลค่า 8.4 หมื่นล้านบาท
  • โครงการปรับปรุงท่าเรือกรุงเทพฯ (คลองเตย)มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท
  • โครงการปรับปรุงท่าเรือระนอง มูลค่า 5 พันล้านบาท

 

โครงการทางอากาศ

  • โครงการจัดหาฝูงบินใหม่ จำนวน 38 ลำ ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่า 1.6 แสนล้านบาท
  • โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยาน (MRO) มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท
  • โครงการก่อสร้างอาคารแซทเทิลไลท์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท
  • โครงการขยายท่าอากาศยานเชียงใหม่ มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

 

ทั้งนี้ โครงการต่างๆนั้นมีทั้งโครงการต่อเนื่อง โครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้ว และอยู่ระหว่างประมูลก่อสร้าง และบางส่วนเป็นโครงการที่เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยคาดว่าภายในเดือนมีนาคม 2562 ครม.จะอนุมัติ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 7,469.43 ล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางบ้านไผ่ -มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 6.7 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ผ่านการพิจารณาของ คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ( Public Private Partnership : PPP)หรือ คณะกรรมการ PPP และเตรียมเสนอ ครม.ภายในเดือนมีนาคมนี้ คือ รถไฟฟ้าสายสีส้มด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนท์ 13.4 กิโลเมตร พร้อมการร่วมทุนเดินรถมูลค่า 1.1 แสนล้านบาท ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. มูลค่า 7.7 หมื่นล้านบาทนั้น มีเป้าหมายเปิดให้บริการในปี 2577 ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการ PPP