การขยายตัวของมหานครใหญ่อย่างเมืองกรุงเทพฯที่เต็มไปด้วยอาคารต่างๆ ทั้งอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ รวมถึงโรงภาพยนตร์ ที่มีคนเป็นจำนวนมากเข้าไปใช้งานในแต่ละวัน ดังนั้นความปลอดภัยและความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากที่สุด โดยมีกฎหมายควบคุมอาคาร ทำหน้าที่ดูแลในเรื่องความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัยและการป้องกันอัคคีภัยของอาคารโดยเฉพาะอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ และอาคารสาธารณะ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่าผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไฟไหม้ตามอาคารบ้านเรือน โรงงานหรือตึกสูงต่างๆ มักจะมีสาเหตุมาจากการสำลักควันไฟมากกว่าจากความร้อนของเปลวเพลิง ดังนั้นการป้องกันอัคคีภัย จึงไม่เพียงแต่จะเน้นในด้านของการดับไฟอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีเรื่องของเส้นทางเพื่อใช้ในการอพยพและป้องกันไม่ให้ควันและไฟลุกลามหรือแพร่กระจาย

ล่าสุดกฎกระทรวงฉบับที่ 69 (พ.ศ.2564) ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 ได้กำหนดให้อาคารสูง

-ต้องจัดให้มีช่องทางเฉพาะสำหรับบุคคลภายนอกเข้าไปบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้นในอาคารได้ทุกชั้น ในรูปแบบลิฟต์ดับเพลิงหรือช่องบันไดหนีไฟก็ได้ และทุกชั้นต้องจัดให้มีห้องว่างที่มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 6 ตารางเมตร มีด้านแคบสุดไม่น้อยกว่า 2.50 เมตรติดต่อกับช่องทางนี้

-อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องจัดให้มีพื้นที่สำหรับยานพาหนะในการปฏิบัติการด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัยหรือภัยพิบัติอื่นๆ

-สำหรับรถดับเพลิงอย่างน้อย 1 คัน โดยเป็นที่ว่างและไม่อยู่ใต้ทางเดินเชื่อมระหว่างอาคาร มีความกว้างไม่น้อยกว่า 3 เมตร ความยาวไม่น้อยกว่า 10 เมตร และให้อยู่ใกล้หัวรับน้ำดับเพลิงที่ติดตั้งภายนอกอาคารมากที่สุด

-สำหรับรถพยาบาลหรือรถปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างน้อย 1คัน มีความกว้างไม่น้อยกว่า 2.50 เมตร ความยาวไม่น้อยกว่า 7 เมตร มีระยะดิ่งไม่น้อยกว่า 2.85 เมตร มีทางเดินจากลิฟต์ดับเพลิงหรือทางปล่อยออกจากทางหนีไฟไปสู่พื้นที่สำหรับรถพยาบาลหรือปฏิบัติการฉุกเฉินในระยะห่างไม่เกิน 60 เมตรเมื่อวัดตามแนวทางเดิน

-อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่เป็นอาคารสาธารณะต้องจัดให้มีพื้นที่เพื่อติดตั้งเครื่องฟื้นคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) ตามมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินประกาศ

-ลิฟต์โดยสารที่ใช้กับอาคารสูงต้องมีขนาดบรรทุกไม่น้อยกว่า 630 กิโลกรัม

-อาคารสูงต้องมีลิฟต์ดับเพลิงอย่างน้อย 1 ตัว ขนาดน้ำหนักไม่น้อยกว่า 630 กิโลเมตร

-สามารถจอดได้ทุกชั้น และต้องมีระบบควบคุมเพลิงพิเศษสำหรับพนักงานดับเพลิงใช้ขณะเกิดเพลิงไหม้โดยเฉพาะ

-บริเวณห้องโถงหน้าลิฟต์ดับเพลิงทุกชั้นต้องติดตั้งตู้หัวฉีดน้ำดับเพลิงหรือหัวต่อสายฉีดน้ำดับเพลิงและอุปกรณ์ดับเพลิงอื่นๆ

-ห้องโถงหน้าลิฟต์ดับเพลิงทุกชั้นต้องมีผนังหรือประตูที่ทำด้วยวัตถุทนไฟปิดกั้นไม่ให้เปลวไฟหรือควันไฟเข้าได้

-ระยะเวลาในการเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องระหว่างชั้นล่างสุดหรือชั้นที่พนักงานดับเพลิงเข้าถึงอาคารได้รวดเร็วที่สุดกับชั้นบนสุดของอาคารต้องไม่เกิน 1นาที

-อาคารสูงที่เป็นอาคารสาธารณะหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่เป็นอาคารสาธารณะที่มีขนาด 4ชั้นขึ้นไป ต้องมีลิฟต์สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยหรือผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างน้อย 1ตัว โดยมีน้ำหนักบรรทุกไม่น้อยกว่า 1,200 กิโลกรัม

10 ขั้นตอนเอาตัวรอดเมื่อเกิดเพลิงไหม้
ควันไฟที่เกิดจากเพลิงไหม้สามารถคร่าชีวิตคนที่ติดอยู่ในบ้านหรืออาคารได้ภายในเวลา 1 วินาที เนื่องจากควันไฟสามารถลอยสูงขึ้นไปได้ถึง 3 เมตร และภายใน 1 นาที ควันไฟสามารถลอยขึ้นไปได้สูงเท่ากับตึก 60 ชั้น

ดังนั้นทันทีที่เกิดเพลิงไหม้ ควันไฟจะปกคลุมอยู่รอบๆตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ที่ติดอยู่ในกองไฟจะสำลักควันไฟตายก่อนที่เปลวเพลิงจะคืบคลานมาถึงตัว

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ ได้แนะนำวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเพลิงไหม้ 10 ขั้นตอนที่เริ่มตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินทางเข้าไปในอาคาร โดยเริ่มจาก

ขั้นตอนที่ 1 ก่อนเข้าพักในอาคาร ควรศึกษาตำแหน่งบันไดหนีไฟ เส้นทางหนีไฟ ทางออกจากตัวอาคาร การติดตั้งอุปกรณ์ระบบ Sprinkle และอุปกรณ์อื่นๆ รวมทั้งต้องอ่านคำแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยจากเพลิงไหม้ และการหนีไฟอย่างละเอียด

ขั้นตอนที่ 2 ขณะที่อยู่ในอาคารควรหาทางออกฉุกเฉิน 2 ทางที่ใกล้ห้องพัก ตรวจสอบดูว่าทางออกฉุกเฉินไม่ปิดล็อคตาย หรือมีสิ่งกีดขวางและสามารถใช้เป็นเส้นทางออกจากภายในอาคารได้อย่างปลอดภัย ให้นับจำนวนประตูห้องโดยเริ่มจากห้องของท่านไปสู่ทางหนีฉุกเฉินทั้ง 2 ทาง เพื่อไปถึงทางหนีฉุกเฉินได้ ถึงแม้ว่าไฟจะดับหรือปกคลุมไปด้วยควัน

ขั้นตอนที่ 3 ก่อนเข้านอนวางกุญแจห้องพักและไฟฉายไว้ใกล้กับเตียงนอน หากเกิดเพลิงไหม้จะได้นำกุญแจห้องและไฟฉายไปด้วย และควรเรียนรู้และฝึกเดินภายในห้องพักในความมืด

ขั้นตอนที่ 4 เมื่อต้องประสบเหตุเพลิงไหม้ ให้หาตำแหน่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ เปิดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ จากนั้นหนีจากอาคารแล้วโทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิงทันที

ขั้นตอนที่ 5 เมื่อได้ยินสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ให้รีบหาทางหนีออกจากอาคารทันที

ขั้นตอนที่ 6 ถ้าเพลิงไหม้ในห้องพักให้หนีออกมาแล้วปิดประตูห้องทันที รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ดูแลอาคาร เพื่อโทรศัพท์แจ้งหน่วยดับเพลิง

ขั้นตอนที่ 7 ถ้าเพลิงไหม้เกิดขึ้นนอกห้องพักก่อนจะหนีออกมาให้วางมือบนประตู หากประตูมีความเย็นอยู่ค่อยๆเปิดประตูแล้วหนีไปยังทางหนีไฟฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด

ขั้นตอนที่ 8 ถ้าเพลิงไหม้อยู่บริเวณใกล้ๆประตูจะมีความร้อน ห้ามเปิดประตูเด็ดขาด ให้รีบโทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิง และแจ้งให้ทราบว่าท่านอยู่ที่ใดของเพลิงไหม้ หาผ้าเช็ดตัวเปียกๆปิดทางเข้าของควัน ปิดพัดลม และเครื่องปรับอากาศ ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือที่หน้าต่าง

ขั้นตอนที่ 9 เมื่อต้องเผชิญกับควันไฟที่ปกคลุมให้ใช้วิธีคลานหนีไปทางฉุกเฉินเพราะอากาศบริสุทธิ์จะอยู่ด้านล่าง (เหนือพื้นห้อง) นำกุญแจห้องไปด้วยหากหมดหนทางหนีจะได้สามารถกลับเข้าห้องได้

ขั้นตอนที่ 10 การหนีออกจากตัวอาคาร อย่าใช้ลิฟท์ขณะเกิดเพลิงไหม้และไม่ควรใช้บันไดภายในอาคารหรือบันไดเลื่อน เนื่องจากบันไดเหล่านี้ไม่สามารถป้องกันควันไฟและเปลวไฟได้ ให้ใช้บันไดหนีไฟภายในอาคารเท่านั้น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*