สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยเตรียมจัดอีเวนต์ใหญ่ “Home-Loan-NPA Grand Sale 2023 ครั้งที่ 20” ยกทัพทรัพย์มือสองจากธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัทบริหารสินทรัพย์รวม 10 รายอัดโปรโมชันราคาพิเศษ พร้อมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หวังเร่งระบายสต๊อก NPA กว่า 1.6 แสนล้านส่งท้ายปี

 นายอลงกต บุญมาสุข เลขาธิการและประธานกรรมการบริหาร สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย เปิดเผยว่า แนวโน้ม NPA ของสถาบันการเงินมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าในช่วงปี 2561 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 NPA ของธนาคารพาณิชย์มีมูลค่าทางบัญชีจำนวน 93,734 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขล่าสุด ณ เดือนสิงหาคม 2566 NPA ของธนาคารพาณิชย์มีมูลค่าทางบัญชีรวม 163,624 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 75% จากปี 2561

ทั้งนี้ยังไม่รวม NPA จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจและบริษัทบริหารทรัพย์สิน ซึ่งข้อมูล ณ สิ้นเดือนมิถุนายน NPA ของบริษัทบริหารทรัพย์สินอยู่ที่ 59,498ล้านบาท  ทำให้ประเมินกันว่า NPA ทั้งระบบจะมีมูลค่ารวม (ตามการประเมินราคา) อยู่ที่ประมาณ 4-5 แสนล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ และยังมีแนวโน้มที่ NPA จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงินโดยธนาคารแห่งประเทศไทยสิ้นสุดลง

ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้ NPA ปรับสูงขึ้นเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวมาตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก เกิดปัญหาการว่างงาน ประชาชนมีรายได้ลดลงส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ ประกอบกับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาดหมายจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยกระทบจากภาระหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูง อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ประกอบกับภาวะสงครามที่เกิดขึ้นทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และล่าสุดสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสซ้ำเติมให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้าลง รวมทั้งการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินทำให้มี NPA เข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้สมาคมฯได้จัดกิจกรรมการตลาดเพื่อส่งเสริมการขายทรัพย์สินรอการขาย (Non-Performing Asset: NPA) ของธนาคาร สถาบันการเงิน และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ภายใต้ชื่องาน Home-Loan-NPA Grand Sale 2023 มหกรรมสินเชื่อบ้านและบ้านมือสองแห่งปี ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายนนี้ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีทรัพย์สินรอการขายจากธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ รวมทั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์จำนวย 10 ราย อาทิ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน),ธนาคารออมสิน,ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน),ธนาคารกรุงเทพ  จำกัด (มหาชน),บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด และธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นต้น นำอสังหาฯมือสองมาเสนอขายร่วมกันในราคาส่วนลด พร้อมโปรโมชัน รองรับกลุ่มลูกค้าที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยและการลงทุน

“บ้านมือสองมีราคาถูกกว่าบ้านใหม่ประมาณ 20-30% และอยู่ในทำเลที่ไม่สามารถสร้างบ้านใหม่ได้ในปัจจุบัน ที่สำคัญต้นทุนการก่อสร้างบ้านใหม่มีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่องจากราคาที่ดิน ราคาวัสดุและต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ธนาคารและสถาบันการเงินได้ขยายช่องทางการทำตลาดบ้านมือสองผ่านผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นการเพิ่มโอกาสในการขายและการเข้าถึงของผู้บริโภคมากขึ้น”

ขณะที่พฤติกรรมการซื้อบ้านมือสองของผู้บริโภคจากการเก็บข้อมูลของ Baania Marketplace ในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมาพบว่า พื้นที่ที่ผู้บริโภคต้องการซื้อบ้านเดี่ยวมากที่สุด ได้แก่ เขตสายไหม บริเวณใกล้ทางด่วนพิเศษฉลองรัช และถนนจตุโชติ เขตคลองสามวา บริเวณใกล้ถนนกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันออก และเขตบางขุนเทียน ใกล้ถนนกาญจนาภิเษกฝั่งใต้ โดยส่วนใหญ่ต้องการบ้านเดี่ยวขนาด 50-60 ตารางวา 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ราคา 3-5 ล้านบาท

ส่วนทาวน์โฮมที่ผู้บริโภคต้องการซื้อจะอยู่ในพื้นที่เขตสายไหม บริเวณถนนสายไหม และถนนสุขาภิบาล 5 เขตประเวศ บริเวณถนนสุขุมวิท 77 และถนนพัฒนาการ และเขตคลองสามวา บริเวณใกล้ถนนกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันออก และติดถนนเลียบคลองสอง

โดยเฉพาะทาวน์โฮมขนาดพื้นที่ 16-25 ตารางวา 2 ชั้น 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทในเขตสายไหมและคลองสามวา และทาวน์โฮมขนาด 26-35 ตารางวา 3 ชั้น 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ในเขตประเวศ

สําหรับคอนโดมิเนียม ทำลที่ผู้บริโภคให้ความสนใจสูงสุดอยู่ในเขตจตุจักร บริเวณ MRT สถานีลาดพร้าว และสายสีเหลือง โดเฉพาะห้องชุดแบบ 1 ห้องนอน ขนาด 31-50 ตารางเมตร ราคา 3-5 ล้านบาท เขตบางกะปิ บริเวณถนนลาดพร้าว และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง บริเวณสถานีลาดพร้าว 101 เป็นคอนโดมิเนียม 1 ห้องนอน ขนาด 31-50 ตารางเมตร ราคา 1-3 ล้านบาท และเขตห้วยขวาง บริเวณใกล้ทางด่วนศรีรัธ และ MRT สายสีน้ำเงิน สถานีเพชรบุรี เป็นคอนโดมิเนียม 1 ห้องนอน ขนาด 31-50 ตารางเมตร ราคา 1-3 ล้านบาท

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ในฐานะกรรมการที่ปรึกษาสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ตลาดบ้านมือสองมีการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญมาตั้งแต่ปี 2565 เนื่องจากรัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ซื้อบ้านมือสองได้รับสิทธิ์ในการลดค่าธรรมเนียมการโอนเหลือ 1% และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายบ้านมือสองราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งจะหมดอายุมาตรการในสิ้นปีนี้

ขณะที่บ้านใหม่ในทำเลที่ต้องการมีราคาแพงขึ้น หรือไม่สามารถหาซื้อได้แล้ว บ้านมือสองจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมของประชาชนที่ต้องการที่อยู่อาศัย เนื่องจากราคาที่ต่ำกว่าบ้านใหม่ในทำเลเดียวกันถึง 20-30% ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้ที่ต้องการซื้อบ้านมากขึ้น

จะเห็นได้จากสัดส่วนจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสองจากต้นทางที่เป็นบุคคลธรรมดาทั่วประเทศมีสัดส่วนประมาณ 60% ของหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศหรือประมาณ 240,000 ยูนิต มูลค่า 300,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลประมาณ 100,000 ยูนิต มูลค่า 200,000 ล้านบาท

สอดคล้องกับผลการสำรวจประกาศขายบ้านมือสองทางออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ตลาดนัดบ้านมือสองของ REIC และเว็บไซต์ที่สำคัญ พบว่า ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมามีการประกาศขายบ้านประมาณ 144,000 ยูนิต มูลค่า 987,000 ล้านบาท เพิ่มสูงกว่าไตรมาสที่ผ่านมาประมาณ 1.5% และ 3.1% ตามลำดับ โดยประเภทบ้านมือสองที่มีการประกาศขายมากที่สุด คือ บ้านเดี่ยว  40% ห้องชุด 30% และทาวน์เฮาส์ 25%

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*