กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีคนคุมอำนาจเป็นตระกูลใดตระกูลหนึ่งในประเทศไทยมีหลายกลุ่มธุรกิจ เพราะธุรกิจในประเทศไทยส่วนใหญ่เริ่มต้นมานานมากกว่า 1 รุ่นแล้ว ดังนั้น จุดเริ่มต้นส่วนใหญ่เริ่มจากธุรกิจครอบครัว จากธุรกิจขนาดเล็กแล้วค่อยๆ ขยับขยาย เปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจไปอย่างต่อเนื่องตามกาลเวลา ลูกหลานในตระกูลอาจจะมีการต่อยอดธุรกิจของครอบครัวออกไป จนธุรกิจของหลายครอบครัว ครอบคลุมหลากหลายกลุ่มธุรกิจมาก หรืออาจจะเรียกได้ว่าหยิบจับสินค้าอะไรในซูเปอร์มาร์เก็ต ก็อาจจะเป็นของกลุ่มธุรกิจที่มีเจ้าของเป็นตระกูลใดตระกูลหนึ่ง หรือบางครอบครัวขยายไปต่างประเทศด้วยธุรกิจหรือกิจการที่พวกเขามีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มายาวนาน เช่น ธุรกิจโรงแรม ศูนย์การค้า เป็นต้น
โดยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้ ในประเทศไทยภายหลังอาจจะเริ่มมีการขยับขยายหรือปรับเปลี่ยนองค์กร รวมไปถึงมีการใช้บริหารผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาบริหารจัดการองค์กร แล้วกลุ่มคนที่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเจ้าของกิจการตัวจริงอาจจะมีชื่อ มีตำแหน่งเพียงแต่ในนามเท่านั้น ไม่ได้เข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการองค์กรแล้ว ซึ่งแบบนี้อาจจะทำให้กิจการหรือธุรกิจเจริญเติบโตไปได้อีกมาก หลายกลุ่มธุรกิจที่เริ่มต้นจากครอบครัวมีการขยายตัวไปทุกทิศทางมากขึ้น เพราะเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น  ธุรกิจหรือกิจการของกลุ่มตระกูลใหญ่เหล่านี้ อาจจะไม่ได้จำกัดเพียงไม่กี่ธุรกิจเหมือนตอนเริ่มต้นกิจการแล้ว แต่ขยายออกไปหลายธุรกิจมาก และอาจจะมีบางธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จแล้วพวกเขาก็เลือกที่จะปิดกิจการนั้นๆ ไม่ดำเนินการต่อไป ยกเว้นว่าเป็นกิจการหรือธุรกิจที่อาจจะเป็นความชอบส่วนตัวของสมาชิกในครอบครัว หรือเป็นกิจการที่มีไว้เพื่อเสริมภาพลักษณ์องค์กรเท่านั้น โดย 1 ในธุรกิจที่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทยให้ความสนใจและเข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนธุรกิจนี้ คือ อสังหาริมทรัพย์ จาก 6 ตระกูลใหญ่

 

นายเจริญ สิริวัฒนภักดี
1.กลุ่มทีซีซี หรือ ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น (Thai Charoen Corporation Group : TCC GROUP)

กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีจุดกำเนิดหรือคนเริ่มต้นธุรกิจเป็นตระกูล “สิริวัฒนภักดี” เป็น 1 ในกลุ่มธุรกิจที่ว่ากันว่าถือครองอสังหาริมทรัพย์ทั้งที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้างหลากหลายในประเทศไทย และในอาเซียน รวมไปถึงในต่างประเทศอีกไม่น้อย เฉพาะที่ดินที่แม้ว่าจะไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดก็อาจจะมีมากถึงไม่ต่ำกว่า 600,000 ไร่ทั่วประเทศไทย อสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ ก็มากมาย ทั้งอาคารสำนักงาน โรงแรม โครงการพื้นที่ค้าปลีก เป็นต้น และที่ดินที่ทำการเกษตรเพื่อสนับสนุนธุรกิจของตนเองอีกมากมาย กลุ่มทีซีซีไม่เพียงทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ และไม่มีแอลกอฮอลล์เท่านั้น

นอกจากนี้กลุ่มทีซีซียังมีบริษัทหรือธุรกิจที่ตั้งขึ้นมาเอง และเข้าไปซื้อกิจการผ่านการซื้อหุ้นส่วนใหญ่ หรือการซื้อทรัพย์สินอีกหลายบริษัท เช่น  บริษัท แผ่นดินทองพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน) ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) หรือ FPT ซึ่งไม่เพียงพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเท่านั้น ยังมีโครงการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมซึ่งเคยเป็นของบริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) มาก่อนด้วย แล้วยังมีบริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UV ซึ่งมีโครงการพาณิชยกรรมของตนเอง และมีบริษัท แกรนด์ ยูนิตี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัดที่พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยอยู่ภายใต้บริษัทนี้อีกด้วย ยังมีบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งอยู่ในธุรกิจการบริหารอาคาร และโครงการซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการต่างๆ ของกลุ่มทีซีซี รวมไปถึงศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC เข้าเทกโอเวอร์บิ๊กซีในประเทศไทยทั้งหมดในปี 2566 ทำให้กลุ่มทีซีซีขยายธุรกิจรวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เพิ่มเติม กลุ่มทีซีซีมีที่ดินที่รอการพัฒนาในมืออีกมากทั้งที่ดินขนาดใหย่บนถนนเกษตร-นวมินทร์ต.แหลมผักเบี้ยและอ.ชะอำ จ.เพชรบุรี รวมไปถึงในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศไทย และบริษัทต่างประเทศอย่าง เฟรเซอร์แอนด์นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) ที่ไปเทกโอเวอร์มา ซึ่งสามารถต่อยอดกับกิจการหรือธุรกิจในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ได้อีก

อีกทั้งกลุ่มทีซีซี ยังมี บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาไม่นาน เป็นบริษัทที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก โดบเฉพาะอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชยกรรม เช่น อาคารสำนักงาน โรงแรม และโครงการพื้นที่ค้าปลีกรูปแบบต่างๆ โดยเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จากการโอนหรือซื้อมาจากบริษัทในเครือต่างๆ รวมไปถึงมีการซื้อเพิ่มเติมต่อเนื่องตลอดทุกปีทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ กลุ่มทีซีซีมักจะมีชื่อเข้าไปพัวพันกับการซื้อกิจการ หรือที่ดินแปลงใหญ่ๆ ในประเทศไทย และต่างประเทศเสมอ ดังนั้น ถ้าจะบอกว่ากลุ่มทีซีซีเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ลำดับต้นๆ ในประเทศไทยก็คงไม่ผิด

นายธนินทร์ เจียรวนนท์

2.กลุ่มซีพี (เครือเจริญโภคภัณฑ์)

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสินค้าบริโภคด้านอาหารขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนของตระกูล “เจียรวนนท์” เป็นอีก 1 กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มักจะได้รับการพูดถึงอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีการประมูลที่ดินหรือการซื้อโครงการขนาดใหญ่ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ก่อนหน้านี้กลุ่มซีพีอาจจะเป็นเจ้าตลาดอาหารสด อาหารแช่แข็ง สินค้าเพื่อการบริโภคจำนวนมากรวมไปถึงร้านสะดวกซื้อของอาเซียน แต่กลุ่มซีพียังมีการเดินหน้าซื้อกิจการหรือเข้าไปลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง มีทั้งอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจหรือกิจการต่างๆ ในประเทศอื่นๆ อีกมากมายโดยเฉพาะในประเทศจีน และในภูมิภาคอาเซียน รวมไปถึงในประเทศอื่นๆ ในยุโรปผ่านบริษัทอื่นๆ ของตนเอง

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มซีพี อาจจะไม่ได้โดดเด่นหรือว่ามีบริษัทในเครือที่มากมายเมื่อเทียบกับกลุ่มทีซีซี แต่ก็มีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มาต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี ภายใต้ชื่อบริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP LAND ซึ่งมีการลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่ส่วนใหญ่จะเป็นในรูปแบบของคอนโดฯ อาคารสำนักงาน โรงแรม ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดทั่วประเทศไทย รวมไปถึงการเข้าซื้อกิจการแม็คโคร และโลตัสในประเทศของกลุ่มซีพี ยิ่งเป็นการต่อยอดให้กลุ่มซีพีมีที่ดินรวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น อีกทั้งยังมีที่ดินที่ทำการเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์อยู่อีกเป็นจำนวนมากเพื่อสนับสนุนกิจการของตนเอง อีกทั้งยังมีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กว่า 2,000 ไร่ จึงเป็นที่มาของข้อสันนิษฐานว่ากลุ่มซีพีน่าจะมีที่ดินในมือไม่ต่ำกว่า 200,000 ไร่ และอุตสาหกรรมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ ในต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ที่ดินในกรุงเทพมหานครบางส่วนที่เป็นที่จอดรถ หรือว่าที่ดินที่ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพในปัจจุบันของกลุ่มซีพีอาจจะมีการนำมาปรับเปลี่ยนเพื่อลงทุนพัฒนาเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทพาณิชยกรรมเพื่อสร้างรายได้ให้กับกลุ่มซีพีมากขึ้น แบบที่เห็นบนที่ดินของโลตัส อ่อนนุช และบางกะปิ รวมไปถึงอาจจะมีที่ดินแปลงอื่นๆ อีก เพราะที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโลตัส และแม็คโครบางสาขามีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น สามารถปรับเปลี่ยนเป็นโครงการประเภทอื่นๆ ที่สร้างรายได้ได้มากกว่าในปัจจุบัน โดยกลุ่มซีพีเริ่มเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้นทั้งแบบการเข้าลงทุนโดยตรงผ่านบริษัทในเครือ การเข้าไปเทกโอกเวอร์กิจการหรือธุรกิจต่างๆ แต่การได้สิทธิ์ในการลงทุนพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3 สนามบินอาจจะเป็น 1 ในก้าวสำคัญที่ทำให้กลุ่มซีพีเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น เพราะกลุ่มซีพีมีที่ดินที่อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟนี้จำนวนมาก แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีความคืบหน้าใดๆก็ตาม บริษัทที่อาจจะถือได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มซีพี คือ บริษัท แมกโนเลียควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC เป็นอีก 1 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาที่ดินบริหารโดย นางสาวทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ บุตรสาวคนเล็กของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ที่มีการลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

อีกบริษัทคือ บริษัท 1.6 ดีเวล็อปเม้นต์ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมก่อตั้งระหว่าง นางสาวธัญทิพ เจียรวนนท์” หรือธัญญ่า (บุตรสาวของ “สุภกิต-มาริษา เจียรวนนท์” หลานสาวของเจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์) กับ “นายชวิน อรรถกระวีสุนทร”ในการพัฒนาโครงการ “เดอะ สแตรนด์ ทองหล่อ”บริเวณปากซอยทองหล่อ (สุขุมวิท 55)คอนโดฯหรู ที่เปิดตัวเปิดเมื่อปี 2564 ในขณะนั้นราคาเริ่มต้นที่17 – 80 ล้านบาท ซึ่งการขายคอนโดฯก็มีการดีลกับ MQDC ในการช่วยขายโครงการ หรือทำกิจกรรมด้วยเช่นกัน และล่าสุดเตรียมเปิดตัวบริษัท อีเดน เอสเตื คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อประกาศตัวเป็นพัฒนาโครงการในรูปแบบ “Low-density Luxury-only Property Development” ซึ่งจะเป็นการพัฒนาโครงการเอง 100% ซึ่งต้องจับตามดูความเคลื่อนไหวของทายาทรุ่นที่ 4 คนนี้กันต่อไป

อย่างไรก็ตามแม้ว่าทั้ง 2 บริษัท จะไม่ได้อยู่ในฐานะบริษัทในเครือหรือบริษัทลูกของกลุ่มซีพี แต่การที่ผู้บริหารสูงสุดหรือเจ้าของบริษัทนั้นเป็นคนในตระกูลเดียวกันกับกลุ่มซีพีจึงถูกมองว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างเลี่ยงไม่ได้

3.กลุ่มเซ็นทรัล (บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน)หรือ CPN)

กลุ่มธุรกิจที่มีจุดเริ่มต้นมาจากธุรกิจค้าปลีกซึ่งมีตระกูล “จิราธิวัฒน์”และขยายกิจการครอบคลุมไปทุกภาคของประเทศไทย แล้วมีการขยับขยายออกไปยังธุรกิจโรงแรม และการลงทุนทั้งแบบโดยตรงผ่านการเทกโอเวอร์ และการเข้าไปเป็นหุ้นส่วนในกิจการหรือธุรกิจค้าปลีกในต่างประเทศทั่วโลกมากขึ้น จำนวนที่ดินในการครอบครองของกลุ่มเซ็นทรัลอาจจะไม่ได้มากมายเมื่อเทียบกับกลุ่มทีซีซี และซีพี เพราะกลุ่มเซ็นทรัลลงทุนในโครงการประเภทพาณิชยกรรม เช่น โรงแรม และโครงการพื้นที่ค้าปลีกเกือบ 100% แต่ได้เริ่มขยายการลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยไม่กี่ปีที่ผ่านมาเท่านั้น กลุ่มเซ็นทรัลยังเข้าไปลงทุนหรือเทกโอเวอร์กิจการค้าปลีกในประเทศอื่นๆ และการเข้าไปบริหารโรงแรมโดยใช้แบรนด์ของทางกลุ่มอย่างต่อเนื่องเช่นกัน รวมไปถึงการมีแบรนด์สินค้า ร้านค้า ร้านอาหารในเครือตัวเองอีกจำนวนมากซึ่งขยายไปตามโครงการพื้นที่ค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัล และขยายไปตามโครงการพื้นที่ค้าปลีกอื่นๆ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ

ทั้งนี้กลุ่มเซ็นทรัลเริ่มชัดเจนมากขึ้นในการเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นอกเหนือจากโครงการพื้นที่ค้าปลีกเมื่อปี 2559 เพราะกลุ่มเซ็นทรัลลงทุนพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมใน 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ระยอง และฉะเชิงเทราโดยใช้ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา เรซซิเด้นซ์ จำกัด ในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ก่อนที่จะมีโครงการคอนโดมิเนียม และบ้านจัดสรรเปิดขายมากขึ้นในภายหลัง โดยตั้งเป้าในปี 2566 มีทั้งหมด 34 โครงการ ใน 24 จังหวัด  รวมๆ ในเวลาไม่กี่ปีหลังจากปี 2559 โดยโครงการคอนโดมิเนียมของกลุ่มเซ็นทรัลจะมีจุดขายที่สำคัญ คือ อยู่ใกล้หรือไม่ไกลจากโครงการพื้นที่ค้าปลีกของทั้งเซ็นทรัล และโรบินสัน อีกทั้งกลุ่มเซ็นทรัลเริ่มเก็บสะสมที่ดินมากขึ้นเพื่อนำมาพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยเพิ่มเติมนอกเหนือจากโครงการพื้นที่ค้าปลีก

และการที่กลุ่มเซ็นทรัล เทกโอเวอร์ บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลมีโครงการพื้นที่ค้าปลีกมากขึ้นโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล อีกทั้งยังสามารถขยายการลงทุนบนที่ดินหรือโครงการที่มีอยู่แล้วของสยามฟิวเจอร์ได้อีก รวมไปถึงการเข้าเทกโอเวอร์ บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLAND ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลมีที่ดินเพิ่มขึ้นอีกโดยเฉพาะแปลงใหญ่ตรงแยกพระราม 9 และพหลโยธินรวมไปถึงได้อาคารสำนักงาน และโครงการของกลุ่ม GLAND เข้ามาในเครือเพิ่มเติมอีกด้วยกลุ่มเซ็นทรัลยังมีโครงการพื้นที่ค้าปลีกในต่างประเทศกว่า 42 แห่งใน 8 ประเทศทั่วยุโรป ดังนั้น จะบอกว่ากลุ่มเซ็นทรัลเป็นอีก 1 กลุ่มธุรกิจที่มีที่ดินในประเทศไทยมากเป็นอันดับต้นๆ ก็คงได้ แม้อาจจะไม่ได้มีที่ดินมหาศาลเหมือนกลุ่ม “สิริวัฒนภักดี” และ “เจียรวนนท์”เพราะไม่ได้มีการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรใดๆ เลย

4.กลุ่มตระกูล “กาญจนพาสน์”

เริ่มจากกลุ่ม”นายอนันต์ กาญจนพาสน์” ที่บุกเบิกที่ดินบริเวณ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยมีเป้าประสงค์ในการพัฒนาพื้นที่ 4,700 ไร่ ให้เป็นเมืองขนาดย่อมตามแบบฮ่องกง ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของ ”นายอนันต์ กาญจนพาสน์” ซึ่งเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2533 ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด(มหาชน)หรือ BLAND แต่เมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540  ทำให้แผนการดำเนินงานเปลี่ยนไป แต่ “นายอนันต์”ก็ฮึดสู้ ปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาให้มีความหลากหลาย จนทำให้เมืองทองธานี กลายเป็นเมืองขนาดย่อมสมความตั้งใจ ซึ่งประกอบด้วย คอนโดฯ,บ้านจัดสรร,ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค,โรงเรียน,มหาวิทยาลัย,หน่วยงานราชการ,สถาบันการเงิน,สนามกีฬา รวมไปถึงโครงการพื้นที่ค้าปลีก โรงแรม ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์แสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุด และสามาระจัดงานในทุกระดับ ปัจจุบันเครือ BLAND อยู่ภายให้การบริหารของ 2 ทายาท “นายอนันต์” ซึ่งก็คือ “ปีเตอร์-พอลล์ กาญจนพาสน์”

ขณะที่มังกรผู้น้องของ “นายอนันต์” คือ “นายคีรี กาญจนพาสน์”ดำเนินธุรกิจภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS หรือดั้งเดิมคือ บริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดย บริษัท ธนายง จำกัด ดำเนินธุรกิจในด้านการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อขาย และเช่าเป็นหลักมีโครงการบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ อาคารสำนักงาน ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นบริษัทผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนในปี 2553 เมื่อเข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ร้อยละ 94.60 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดแล้วเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทที่ให้บริการในด้านระบบขนส่งมวลชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมีเส้นทางรถไฟฟ้าที่กลุ่มบีทีเอสเป็นผู้ให้บริการหลายเส้นทางมากในกรุงเทพมหานครต่อเนื่องไปถึงปริมณฑล

บริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือก่อนหน้านี้ คือ บริษัท แนเชอรัลพาร์ค จำกัด (มหาชน) อีก 1 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจในด้านการพัฒนา และลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งกลุ่ม BTS เทกโอเวอร์มาในปี 2558 โดยบริษัทนี้มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหารและพัฒนาของยูซิตี้หลายโครงการ ทั้งโครงการโรงแรมในประเทศไทย และต่างประเทศอาคารสำนักงานที่เปิดให้บริการมานานแล้ว และที่กำลังก่อสร้างใหม่ รวมไปถึงโครงการที่อยู่อาศัยที่กลุ่ม BTS โดยบริษัท ยูซิตี้ เข้าไปร่วมทุนพัฒนาด้วยทั้งกับบริษัทแสนสิริ จำกัด(มหาชน) หรือ SIRI ซึ่งมีโครงการคอนโดมิเนียมหลายโครงการที่พัฒนาร่วมกันแต่ปัจจุบันไม่ได้ร่วมทุนพัฒนาโครงการด้วยกันแล้ว อีกทั้ง ยังเข้าซื้อหุ้นบางส่วนใน บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN เพื่อต่อยอดพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ร่วมกันแถวบางนา – ตราด โดย ณ ปัจจุบันบริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ U เข้าร่วมทุนในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมร่วมกับ บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOBLE จำนวน 4 โครงการในปี 2564 รวมไปถึงการเข้าซื้ออาคารสำนักงานของโนเบิลฯก่อนหน้านี้ด้วย และอาจจะมีอีกหลายโครงการร่วมกันในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซที่ร่วมทุนกับบริษัท Fortune Hand Ventures จากฮ่องกง อีกด้วย ในสัดส่วน 51:49 โดยเป็นการต่อยอดพื้นที่ธนาซิตี้ 1,700 ไร่ ที่นายคีรี เริ่มต้นพัฒนาเป็นหมู่บ้านจัดสรรและสนามกอล์ฟตั้งแต่ 31 ปีก่อน และการเปิดโรงเรียนนานาชาติในครั้งนี้ ถือเป็นการเติมสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบครันสำหรับความเป็นเมือง โดยโครงการนี้พัฒนาบนพื้นที่ 168 ไร่ ซึ่งเฟสแรกพัฒนาบนพื้นที่ 70 ไร่  มูลค่าการลงทุน 5,000 ล้านบาท ก่อสร้างเป็นอาคารเรียน สนามฟุตบอล สนามกีฬากลางแจ้ง ศูนย์ออกกำลังกาย โดยภายในมีสระว่ายน้ำในร่มยาว 50 เมตรมาตรฐานโอลิมปิกที่ควบคุมอุณหภูมิได้แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งได้เปิดการเรียนการสอนเทอมแรก เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา

5.บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด

บริษัทที่ดั้งเดิมก่อตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจการผลิตเบียร์และเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์รายใหญ่ของไทยและเอเชีย หลายแบรนด์ ผู้ก่อตั้งเป็นคนในตระกูล “ภิรมย์ภักดี” ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นกลุ่มผู้บริหารและผู้ถือหุ้นสูงสุดของกลุ่มบริษัทนี้  หลังจากนั้นเริ่มมีการขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น โดยอาจจะเริ่มจากการที่คนในตระกูล “ภิรมย์ภักดี” ริเริ่มกันเองซึ่งมีทั้งไร่ไวน์ ร้านอาหารโครงการบ้านที่เขาใหญ่ รวมไปถึงรีสอร์ทและโรงแรม ระดับพรีเมียม ในหลายจังหวัดหัวเมืองท่องเที่ยว จากนั้นปี 2557 จึงขยับเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบเต็มตัวเมื่อเข้าเทกโอเวอร์บริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน)หรือ S 

บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กลายเป็นบริษัทของกลุ่มบุญรอดฯที่ลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มาต่อเนื่องในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา มีโครงการที่อยู่อาศัยทั้งบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี ถึงอัลตราลักชัวรี หลายโครงการ รวมไปถึงอาคารสำนักงานอีก 10 อาคาร ซึ่งรวมทั้งที่เคยเป็นของรสา พร็อพเพอร์ตี้มาก่อน ซึ่งโครงการที่อยู่อาศัยของสิงห์ เอสเตทมีการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมไปถึงมีแผนการพัฒนาโครงการต่อเนื่องในอนาคตด้วย นอกจากนี้บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ยังมีบริษัท เอสโฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทในเครือที่ลงทุนในธุรกิจโรงแรมที่พักทั่วโลกโดย ณ ปัจจุบันมีโรงแรมอยู่ในเครือทั้งหมด 38 โรงแรมรวมแล้วกว่า 4,552 ห้องพัก แล้วยังมีบริษัท เอส.ไอเอฟ. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ลงทุนพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมโดยแห่งแรกอยู่ที่ จ.อ่างทอง และยังมีการดำเนินธุรกิจในด้านการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เช่น การผลิตกระแสไฟฟ้า ธุรกิจพลังาน และวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้กลุ่มบุญรอดอาจจะไม่ได้มีความเคลื่อนไหวมากมายในธุรกิจ  อสังหาริมทรัพย์ แต่การที่มีบริษัทในเครืออย่างสิงห์ เอสเตท และเอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท ซึ่งเป็นบริษัทที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่อเนื่องมาโดยตลอด และมีมูลค่าการลงทุนรวมกันหลายหมื่นล้านบาท ดังนั้นจึงอาจจะบอกได้ว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นอีก 1 ในธุรกิจหลักของกลุ่มบุญรอดในปัจจุบันไปแล้ว และคงขยายการลงทุนรวมไปถึงการเข้าซื้อกิจการ หรือเทกโอเวอร์ต่อเนื่องทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ

6.บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC

ธุรกิจของตระกูล “โชควัฒนา” บริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการผลิตสินค้าอุปโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ผงซักฟอก สบู่ยาสีฟัน แชมพู ครีมล้างหน้า รวมไปถึงอาหาร เช่น น้ำปลา ซอส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมต่างๆเป็นต้น และส่งออกไปขายในหลายประเทศ เรียกได้ว่าอาหารสำเร็จรูป หรือกึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทย และอาเซียนต้องมีสินค้าของสหพัฒน์อยู่ในทุกร้านที่มีสินค้าประเภทนี้วางจำหน่ายอาจจะเป็นบริษัทที่ไม่ได้เข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบชัดเจน แต่ก็มีธุรกิจหรือกิจการในเครือที่มีความเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์

แต่เนื่องจากกลุ่มสหพัฒน์มีบริษัทในเครือที่ผลิตสินค้าจำนวนมาก และหลากหลายประเภท อีกทั้งเพื่อความสะดวกในการขนส่งสินค้ากระจายไปทั่วประเทศไทย และต่างประเทศจึงมีการตั้งสวนอุตสาหกรรมของตนเองใน 3 จังหวัด 3 ภาคของประเทศไทยโดยมีในจังหวัดลำพูนศรีราชา จังหวัดชลบุรี และกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งโรงงานในสวนอุตสาหกรรมก็เป็นโรงงานในเครือของกลุ่มสหพัฒน์ นอกจากนี้ในช่วงหลังยังมีการขยายการลงทุนมายังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น ทั้งการร่มทุนเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย กับทางบริษัท ชาญอิสสระดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ CI ที่อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นแลนด์แบงก์ใหญ่ของกลุ่มสหพัฒน์และการลงทุนพัฒนาโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ในอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

และการลงทุนที่ชัดเจนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มสหพัฒน์คือการจัดตั้งบริษัท คิง สแควร์ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เพื่อพัฒนาโครงการ “คิง สแควร์ เรสซิเดนซ์” (KingsQuare Residence)โครงการคอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี่ บนถนนพระราม 3 ซึ่งอยู่ติดกับโรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพฯ ของเครือสหพัฒน์อีกเช่นกัน โดยโครงการนี้ยังมีส่วนของคอมมูนิตี้มอลล์ เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ด้วย และยังมีโครงการอาคารสำนักงานในชื่ออาคารคิงบริดจ์ ทาวเวอร์ บนถนนพระราม 3 เช่นกันเป็นโครงการที่ลงทุนพัฒนาโดย บริษัท คิงบริดจ์ ทาวเวอร์ จำกัด บริษัทในเครือสหพัฒน์ จะเห็นได้ว่ากลุ่มสหพัฒน์เข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากขึ้นแบบชัดเจน เพราะมีทั้งที่ดินในพอร์ต และเงินลงทุน อีกทั้งสามารถหาพันธมิตรเพื่อช่วยในการลงทุนหรือต่อยอดได้ไม่ยาก

ทั้ง 6 กลุ่มบริษัทของ 6 ตระกูลใหญ่ที่ดั้งเดิมก่อร่างสร้างตัวมาจากกิจการอื่นๆ จากนั้นเมื่อมีรายได้มากขึ้น การขยายการลงทุนไปยังกิจการอื่นๆ ก็จำเป็นต้องเริ่มที่การซื้อที่ดินเป็นหลัก เมื่อซื้อที่ดินเข้ามาต่อเนื่องก็อาจจะมากเกินไป แต่ด้วยความเป็นบริษัทขนาดใหญ่จึงสามารถนำที่ดินของตนเองมาลงทุนพัฒนาต่อยอดเพื่อสนับสนุนกิจการในเครือ หรือสร้างรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และทั้ง 6 กลุ่มนี้อาจจะครอบครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยไปไม่น้อย เพราะที่ผ่านมาการถือครองที่ดินในประเทศไทยไม่มีต้นทุนหรือไม่ต้องเสียภาษีแบบชัดเจน แต่เมื่อมีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ จึงเริ่มเห็นการเตรียมตัว และเปลี่ยนแปลงในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่กลุ่มธุรกิจต่างๆ มีในครอบครองทั้งการลงทุนพัฒนาเป็นโครงการประเภทต่างๆ เอง หรือการเปลี่ยนถ่าย โอนย้ายให้กับบริษัทในเครือ แต่ยังมีอีกบางตระกูลที่อาจจะมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไม่มาก หรือเพียง 1 ทำเลเท่านั้น เช่น ตระกูล“เตชะณรงค์” ที่ลงทุนในเขาใหญ่เป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีบางองค์กร หรือหน่วยงานที่ครอบครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์จำนวนมากในประเทศไทย เช่น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ,กรมธนารักษ์ที่ถือครองที่ดินของราชการทั่วประเทศไทย ,การรถไฟแห่งประเทศไทยที่ถือครองที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ ,หน่วยงานทหารต่างๆ ก็มีที่ดินไม่น้อย ,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนภูมิภาค เป็นต้น  

ขอขอบคุณข้อมูลจาก 

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด (Property DNA) บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*