หลังจากที่ภาคธุรกิจอสังหาฯได้เผชิญปัจจัยลบต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจทั่วโลกที่อยู่ในช่วงขาลงและเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ฟื้น 100% และในช่วงปี 2563 ก็ประสบกับวิกฤติโควิด-19 ,ภาวะเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย ที่ปรับสูงขึ้น เป็นต้น และแม้ว่าจะผ่านวิกฤติโควิด-19 มาแล้ว  ก็ยังไม่มีวี่แววที่ภาคอสังหาฯจะฟื้นตัวมากขึ้นแต่อย่างใด และมีแนวโน้มที่ปี 2567 จะแย่กว่าปี2566 หากภาครัฐไม่มีการออกมาตรการมาช่วยเหลือ
ทั้งนี้หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสินรับสนองพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา พร้อมกับควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย  ซึ่งทาง 3 สมาคมอสังหาฯ คือ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร,สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย,สมาคมอาคารชุดไทย ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อเห็นจังหวะที่เหมาะสม ในช่วงไตรมาส 4/2566 ที่ผ่านมา จึงได้ผนึกกับ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน, สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย ,สมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการติดต่อเพื่อขอเข้าพบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อนำหนังสือขอความช่วยเหลือภาคธุรกิจอสังหาฯ แต่ได้มีการเลื่อนการนัดเข้าพบมาแล้ว 3 รอบ
และล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 เวลาประมาณ 10.30 น. ตัวแทนทั้ง 7 องค์กรภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็ได้มีโอกาสเข้าพบเพื่อนยื่นหนังสือและร่วมหารือกับ “นายเศรษฐา ทวีสิน”เป็นระยะเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง
โดยหลังจากที่ร่วมหารือเสร็จ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ผ่านสื่อโซเชียล X ว่า หลังจากที่ตัวแทนจาก 7 องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์เข้าพบเพื่อยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือภาคธุรกิจอสังหาฯ โดยระบุว่า สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์เกิดการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 ครับ ผมเห็นว่านี่เป็นปัญหาสำคัญที่ควรจะต้องเร่งแก้ไข เพราะการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ จะเกิด Multiplier effect ต่อหลายภาคธุรกิจ วันนี้ 7 องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้เข้านำเสนอมาตรการต่าง ไม่ว่าจะเป็นการลดหย่อนค่าธรรมเนียม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การสนับสนุนการมีบ้านหลังแรก ที่จะเป็นการฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์ และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งผมได้ตั้งคณะทำงานกลุ่มเล็ก เพื่อรวบรวม และนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหานี้โดยเร็วครับ

ขณะที่ นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ในวันดังกล่าว ทั้ง 7 สมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้ยื่นหนังสือซึ่งเป็นข้อเสนอแนะแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการอสังหาริมทรัพย์ ต่อนายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีใจความระบุว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์เกิดการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562  ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทุกภาคส่วนแม้ในปัจจุบันก็ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อีกทั้งค่าครองชีพ ต้นทุนสินค้า อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นยิ่งทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินมีความเข้มงวด ส่งผลต่อกำลังซื้อในตลาดขณะนี้ โดยเฉพาะกำลังซื้อที่เป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ไม่ใช่การซื้อเพื่อเก็งกำไร

ด้วยเหตุดังกล่าว  7  องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย คณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร  สมาคมอาคารชุดไทย  สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย  สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน สมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์  และสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย  จึงขอนำเรียนข้อเสนอมาตรการต่างๆ เพื่อให้ท่านนายกรัฐมนตรีโปรดพิจารณา เพื่อเป็นการช่วยฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์ และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ  ดังนี้

1.การลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในอสังหาริมทรัพย์ และค่าจดทะเบียนการจำนองจากการซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ดังนี้

     1.1.ลดอัตราค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม จากอัตราร้อยละ 2 เป็น ร้อยละ 0.01 และ  ค่าจดทะเบียนการจำนองจากอัตราร้อยละ 1  เป็นร้อยละ  0.01  ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

     1.2.ปรับหลักเกณฑ์มูลค่าการซื้อที่อยู่อาศัย จากราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทเป็นไม่เกิน  5  ล้านบาท  หรือให้สิทธิการลดหย่อน 3 ล้านบาทแรก เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้มีกำลังซื้อที่สูงกว่า3 ล้านบาท

     1.3.ให้มาตรการดังกล่าวใช้ได้กับการซื้อที่อยู่อาศัยทั้งบ้านสร้างใหม่และบ้านมือสอง รวมถึงบ้านที่ปลูกสร้างเอง ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดภาระของผู้ต้องการที่อยู่อาศัยในทุกกลุ่มและกระตุ้นเศรษฐกิจทุกภาคส่วนที่เชื่อมโยงกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

2.ขอสนับสนุนให้มีการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง โดยยึดเอามูลค่าการก่อสร้างบ้านตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ที่ติดอากรแสตมป์ (..4) กับกรมสรรพากร เป็นหลักฐานเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาในรอบภาษีปีถัดไปได้ในอัตราลดหย่อนล้านละ 10,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท  เพื่อเป็นการลดภาระของผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของตนเองและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกภาคส่วนที่เชื่อมโยงกับธุรกิจรับสร้างบ้าน  อีกทั้งสนับสนุนให้ผู้รับสร้างบ้านจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้นอีกด้วย

3.สนับสนุนการมีบ้านหลังแรกของผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลาง ดังนี้

     3.1.พิจารณาดอกเบี้ยอัตราพิเศษ (Soft Loan)  3%  เป็นเวลา 5  ปีแรกจากสถาบันการเงินของรัฐ

     3.2.ยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์รวมถึงค่าจดจำนองสำหรับบ้านหลังแรกที่ราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท

     3.3.สนับสนุนเงินดาวน์ สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรกเป็นจำนวน 100,000 บาท ซึ่งในอดีตเคยมีมาตรการของรัฐสนับสนุนผู้ซื้อบ้านหลังแรกเป็นจำนวน  50,000  บาท แต่เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้น

     3.4.ขอให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)ช่วยทบทวนเกณฑ์และเพิ่มสิทธิ์ใหม่ในการส่งเสริม ผู้ประกอบการทำธุรกิจขายบ้านและคอนโดมิเนียมให้กับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางเป็นเกณฑ์ใหม่ราคาบ้านและคอนโดมิเนียม ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท/หน่วย และเป็นเกณฑ์เดียวกันทั้งประเทศ (ทดแทนสิทธิ์ส่งเสริมเดิมที่หมดไปแล้ว และเกณฑ์กรอบราคาเดิมที่ไม่สามารถบริหารต้นทุนใหม่ที่แพงขึ้นเป็นอย่างมากได้แล้ว)

4.ขอให้รัฐบาลช่วยให้พิจารณาประสานกระทรวงมหาดไทย และ คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง เพื่อแก้ไขประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง เรื่องกำหนดนโยบายการจัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและพาณิชยกรรม ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ 118  ตอนพิเศษ 61   วันที่ 29  มิถุนายน 2544  โดยขอให้พิจารณาลดขนาดที่ดินของโครงการจัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและพาณิชยกรรมลงมาเพื่อสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ขนาดของครอบครัวที่มีการเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชน และผู้อยู่อาศัยยังคงมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยขอให้พิจารณาดังนี้

     4.1.ลดขนาดที่ดินพร้อมอาคารประเภทบ้านเดี่ยว จากเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 50  ตารางวา  เป็นเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 35  ตารางวา

     4.2.ลดขนาดที่ดินที่ดินพร้อมอาคารประเภทบ้านแฝด จากเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 35  ตารางวา  เป็นเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 28  ตารางวา

     4.3.ลดขนาดที่ดินพร้อมอาคารประเภทบ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ จากเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 16  ตารางวา  เป็นเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 14  ตารางวา

5.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

     5.1.พิจารณาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  50%  เป็นระยะเวลา  1  ปี เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว

     5.2.พิจารณาแก้ไขอัตราภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือสร้างเสร็จของโครงการว่าด้วยการจัดสรรที่ดินและอาคารชุดที่ยังไม่ได้ขาย ให้เป็นประเภทที่อยู่อาศัยโดยแก้ไขกฎกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย วันที่ 29  พฤษภาคม  2563”  ซึ่งพิจารณาการจัดสร้างที่อยู่อาศัย ให้เสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย เนื่องจากอัตราภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือสร้างเสร็จของโครงการว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน และ อาคารชุดที่ยังไม่ได้ขาย ปัจจุบันมีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นประเภทอื่นๆ  แต่สิ่งปลูกสร้างดังกล่าว มิได้เป็นสำนักงาน หรืออาคารเพื่ออุตสาหกรรมที่สำหรับการประกอบการ  และรวมถึง กรณี สต๊อกสินค้าอื่นๆ  มิได้มีภาระภาษีแต่อย่างใด

     5.3 .พิจารณาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับบริการสาธารณะในโครงการจัดสรร เช่นสโมสร สระว่ายน้ำ คลับเฮาส์ ฯลฯ  ซึ่งปัจจุบันเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราประเภทอื่นๆ ให้เป็นประเภทที่อยู่อาศัย โดยอ้างอิงจากวินิจฉัยอุทธรณ์ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกรณีถนนภาระจำยอม ที่ตีความให้ใช้อัตราเดียวกับที่อยู่อาศัยตามมติที่ประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ครั้งที่  2/2564 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564

ในกรณีดังกล่าวข้างต้น หากเทียบเคียงกับกรณีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ  ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามความในมาตรา 8(12) ของพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดให้  ทรัพย์สินที่ใช้สำหรับการสาธารณูปโภคและทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันในโครงการจะได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

     5.4.สำหรับภาคเกษตรกรรมซึ่งอยู่ในพี้นที่ใกล้เขตเมือง หรือ บริเวณซึ่งราคาประเมินที่ดินสูงแต่ยังคงประกอบการเกษตรกรรม ขอให้พิจารณาหลักเกณฑ์กำหนดเพดานการชำระภาษี หรือกำหนดอัตราภาษีต่อไร่ สูงสุดไม่เกินเท่าใด สำหรับกรณีที่ เป็นมรดกตกทอดมา หรือ ซื้อมาเพื่อทำเกษตรก่อนมี ...ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้เกษตรกรสามารถรับภาระภาษีได้ และไม่เป็นแรงกดดันที่จะต้องขายที่ดินออกไป ทั้งยังเป็นสภาพแวดล้อมที่ดินในเขตเมือง แต่หากมีการเปลี่ยนมือไป ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ผู้ซื้อที่ดินใหม่ จะต้อง เป็นผู้รับผิดชอบภาษีในอัตราปกติ

6.พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การถือครองที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจและสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในช่วงที่ผ่านมามีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ดังนั้นความต้องการความมั่นคงในที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติก็ตามมาด้วย โดยขอนำเสนอแนวทาง  ดังนี้

     6.1.ขยายระยะเวลาการเช่า จาก 30  ปี เป็น 50 ปี โดยกำหนดการเช่าให้เป็นทรัพย์สิทธิ(Real rights)

     6.2.ทบทวนหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  (BOI)  ที่เกี่ยวข้องกับการที่ชาวต่างชาติสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้

     6.3.พิจารณาให้  Long Term Visa 10  ปี จำนวน 4  คน แก่ผู้เช่าระยะยาว หรือผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยมูลค่าตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป และ Mid Term Visa 5 ปี จำนวน  2 คน สำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยมูลค่า  5 ล้านบาท ขึ้นไป

7.พิจารณาประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่องการผ่อนปรนมาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to value : LTV ) ในปี 2567-2568  ซึ่งเคยได้รับการผ่อนปรนมาแล้วในช่วงปี 2565 เพื่อช่วยกระตุ้นผู้ที่มีกำลังซื้อ ประกอบกับในปัจจุบันสถาบันการเงินต่างๆ ก็ยังคงพิจารณาสินเชื่อด้วยความรอบคอบและเข้มงวด โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้เป็นหลัก เพื่อมิให้เกิด Non-Performing Loan : NPL ตามมา

8.ขอให้บรรเทาความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในกระบวนการขออนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ของกลุ่มธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุด (Condominium) โดยขอให้ผู้ประกอบการที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน สามารถยื่นและดำเนินการจนครบขั้นตอนในการได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในระหว่างทางที่ยังไม่โอนที่ดินได้ เนื่องจากกระบวนการอนุมัติ EIA มีความซับซ้อน ผูกพันกับหลายภาคส่วน ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงสูงมากในการทำธุรกิจ หากโครงการไม่ผ่านการอนุมัติEIA จนทำให้ผู้ประกอบบางรายเสียหายมากจนถึงขั้นล้มละลายเพราะรับโอนที่ดินที่ราคาสูงมาก มาแล้วแต่ไม่สามารถพัฒนาโครงการได้

ซึ่งหลังจากที่ท่านนายกฯได้เปิดโอกาสให้ทั้ง 7 องค์กรด้านอสังหาฯได้เข้าพบ และยื่นหนังสือให้พิจารณา ก็ต้องยอมรับว่าท่านนายกฯเป็นผู้ที่ทำงานได้รวเร็วมาก เพราะหลังจากที่คุยกับตัวแทนจากทั้ง 7 องค์กรด้านอสังหาฯแล้ว ก็ได้มีการสั่งตั้งคณะกรรมการชุดเล็กในทันที เพื่อร่วมพิจารณาในปัญหาตามที่ยื่นหนังสือมา ว่ามีข้อไหนที่จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และอะไรที่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและผู้บริโภค โดยในช่วงเวลา 16.00 . ของวันที่ 11 มกราคม 2567 ทั้ง 7 องค์กรด้านอสังหาฯ ก็ได้เข้าร่วมหารือกับคณะกรรมการชุดเล็กอีกครั้ง ซึ่งคณะทำงานชุดเล็กของนายกฯมีประมาณ 10 ท่าน โดยมีนายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ อดีต Chief Financial Officer (CFO) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) หรือ BTS เป็นหัวหน้าคณะทำงาน โดยเริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 16.00 .รวมระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ ซึ่งรายละเอียดการประชุม เป็นการนำทั้ง 8 หัวข้อ ที่ตัวแทน 7 องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ ยื่นหนังสือต่อนายกฯไปเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567  ที่ผ่านมา ซึ่งมีการไล่เรียงทีละหัวข้อและทำความเข้าใจในแต่ละประเด็น เพราะบางเรื่องถ้าเกี่ยวกับตัวเลข เกี่ยวกับงบประมาณ แล้วเป็นผลดีกับเศรษฐกิจ หรือบางเรื่องไม่เกี่ยวกับงบประมาณ จะไปแก้ไขให้จัดสรรขนาดเล็กลง ซึ่งต้องพิจารณาทีละข้อ เพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน และหัวข้อใดที่จะต้องเชิญผู้ที่มีความเชี่ยวชาญก็จะเชิญมาร่วมคณะทำงานด้วย อาทิ ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ กรรมการและเลขานุการ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และคณะทำงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จากกระทรวงการคลัง เป็นต้น ซึ่งได้โทรทาบทามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะเริ่มประชุมทันทีในวันที่ 12 มกราคม 2567 ในช่วงเวลาตั้งแต่ 08.30 . เป็นต้นไป

โดยคณะทำงานร่วมยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะมีทั้งหมดกี่คน แต่ที่แน่ๆเราต้องการต้องเลขศูนย์ข้อมูลอสังหาฯในตัวเลขหลายๆเรื่อง มาร่วมหารือกับตัวแทน 7 องค์กรด้านอสังหาฯ ซึ่งเมื่อพิจารณาครบทั้ง 8 ข้อ ก็ต้องนำเสนอท่านนายกฯภายในวันที่ 18 มกราคม 2567 เป็นลำดับถัดไป แต่ก็อาจจะมีบางเรื่องที่พิจารณายังไม่จบ เช่น เรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย ก็จะไม่สามารถสรุปได้เร็วอย่างแน่นอน

ซึ่งนับว่านายกรัฐมนตรี มีการทำงานอย่างรวดเร็วมาก เพราะมีความเข้าใจในธุรกิจอสังหาฯดีอยู่แล้ว ก็ต้องคอยลุ้นกันว่า ทั้ง 8 ข้อเสนอที่ได้ยื่นไปนั้น ภาครัฐจะสามารถช่วยเหลทอได้มากน้อยเพียงใด

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*