มีการคาดการณ์ว่าตั้งแต่ปี 2566-2568 ธุรกิจวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นตามความต้องการทั้งจากตลาดในและต่างประเทศ ปัจจัยหนุน ได้แก่ 1.มูลค่าการลงทุนด้านก่อสร้างโดยรวมในไทยที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 3.0 – 3.5% ต่อปี ตามการเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับ Eastern Economic Corridor (EEC) รวมถึงโครงการขยายเส้นทางคมนาคมขนส่งทางถนนและระบบรางทั่วประเทศ  นอกจากนี้ การก่อสร้างที่อยู่อาศัยภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ และ 2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลังวิกฤติโควิ-19 รวมถึงการขยายตัวของการลงทุนภาคก่อสร้างทั้งโครงสร้างพื้นฐานและโครงการอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในประเทศกัมพูชา,ลาว และเมียนมา (CLM) ซึ่งเป็นตลาดหลัก
โดยรายได้ของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มขยายตัวท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงทั้งจากผู้ผลิตในประเทศและจากสินค้านำเข้า ทั้งนี้ ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มที่จะปรับกระบวนการผลิตด้วยการลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพสูงและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่มุ่งสู่ความยั่งยืนตาม ESG Model (Environmental :สิ่งแวดล้อม, Social :สังคม และ Governance :ธรรมาภิบาล) เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2593 มากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ค้าเร่งปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล เช่น การพัฒนาช่องทาง การจัดจำหน่าย เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม ธุรกิจวัสดุก่อสร้างยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจาก 1.การนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น อาทิ เหล็กก่อสร้าง และกระเบื้องเซรามิก โดยเฉพาะจากจีนและเวียดนามที่ได้เปรียบด้านราคา 2.ราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนด้านพลังงาน และ 3.ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทั้งในภาคก่อสร้างและในสายการผลิตวัสดุก่อสร้าง
สำหรับ กลุ่มบริษัทแซง-โกแบ็ง ถือเป็นบริษัทที่ให้คำสำคัญต่อการผลิตวัสดุก่อสร้างที่เน้นเรื่องความยั่งยืน มาตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปารีส ลอนดอน แฟรงก์เฟิร์ต ซูริก บรัสเซลส์ และอัมสเตอร์ดัม สำหรับประเทศไทยได้เริ่มดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2540 เครือแซง-โกแบ็ง มีโรงงานผลิตจำนวน 7 แห่งและสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มธุรกิจหลักๆ คือ

1.กลุ่มวัสดุก่อสร้าง (Construction Materials) ประกอบด้วย

-โซลูชั่นงานฝ้าเพดาน และผนังเบายิปซัม ยิปรอค หรือ Gyproc ซึ่งเป็นโรงงานผลิตภัณฑ์ยิปซัมแห่งแรกในประเทศไทย

-เวเบอร์ (Weber) กาวซีเมนต์ ยาแนว ระบบกันซึม และเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มอร์ตาร์สำหรับงานก่อสร้าง และงานซ่อมแซม ซึ่งมีทีมพัฒนา R&D ทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก

-โซลูชั่นฉนวนกันร้อน และกันเสียง อิโซแวร์ หรือ Isover และท่อแอร์แบบมีฉนวนในตัว Climaver

-แซง-โกแบ็ง กล๊าส (Saint-Gobain Glass) กระจกแผ่นเรียบคุณภาพสูงสำหรับบ้าน และอาคาร

-แพม (PAM) โซลูชั่นท่อส่งก๊าซ ท่อน้ำแบบครบวงจร

2. กลุ่มอุตสาหกรรม (Industry)ประกอบด้วย

-ฟอร์มูล่า (Formula) ปูนปลาสเตอร์อุตสาหกรรมคุณภาพสูง

-นอร์ตั้น แอบราซีฟส์ (Norton Abrasives) ผลิตภัณฑ์ใบตัด เจียร ตัด ขัด เจาะ คุณภาพสูง

-พีพีแอล (PPL) ผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ประสิทธิภาพสูง

3.กลุ่ม Mobility ผลิตภัณฑ์กระจกรถยนต์ ซีคิวริท (Sekurit) สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์

ปี’67 ยังเผชิญหลากปัจจัยที่ท้าทาย

นายเบอร์นัว บาร์แซง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม แซง-โกแบ็ง เปิดเผยในงานเสวนาภายใต้หัวข้อ “ยกระดับความท้าทายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในอุตสาหกรรมการก่อสร้างของประเทศไทย” หรือ Elevate ambitions for a Sustainable Future, fostering positive change in Thailand’s construction industry ว่า เพื่อเป็นการตอกย้ำการเป็นองค์กรที่มีแนวทางการทำธุรกิจแบบยั่งยืนควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมในระดับสากล โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศไทยให้ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนของกลุ่มแซง-โกแบ็ง และระบบธุรกิจหมุนเวียน (circular economy) เพื่อเป็นแนวทางในการร่วมกันสร้าง และพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการก้าวสู่การเป็นผู้นำโซลูชั่นการก่อสร้างในรูปแบบ “light and sustainable construction”

โดยที่กลุ่มบริษัทแซง-โกแบ็ง ยังมีแนวทางในการดำเนินธุรกิจซึ่งนอกเหนือจากการมุ่งมั่นพัฒนา Solution แล้ว ยังคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ซึ่งการมุ่งเน้นในเรื่อง Sustainability ก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญของกลุ่มบริษัทแซง-โกแบ็ง มาโดยตลอด โดยการทำให้โลกของเราเป็นบ้านที่น่าอยู่ยิ่งขึ้นกว่าเดิมตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มบริษัทที่ว่า “Making the world a better home” ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุ กระบวนการผลิต ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) การประเมินวัฏจักรชีวิต (LCA) และการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งได้มีการกำหนดเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โดยได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์ทางด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงเวลาต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับกฎบัตรด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental, Health & Safety : EHS) โดยมีเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนสู่องค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 ดังนั้นกลุ่มบริษัทแซง-โกแบ็ง จึงได้ส่งเสริมบทบาทในการป้องกัน และบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน นักลงทุน ผู้กำหนดนโยบาย ลูกค้า ซัพพลายเออร์ องค์กรภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ อีกด้วย

ในขณะที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2567 กลุ่มบริษัทแซง-โกแบ็ง มองว่าเป็นปีที่ท้าทายทั้งเรื่องของต้นทุนสินค้า, งบประมาณการก่อสร้าง, ค่าแรงที่สูงขึ้น และการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงการแข่งขันด้านราคาที่สูงมาก ทำให้กลุ่มบริษัทแซง-โกแบ็งมองเห็นโอกาสในการใช้นวัตกรรมที่มีความชำนาญมาสร้างความแตกต่างเพื่อนำเสนอให้กับลูกค้า ด้วยการมุ่งเน้นพัฒนา Innovation, System และ Solution ให้เป็น Practical Innovation โดย Solution เหล่านี้จะเน้นเรื่องการแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดจากการใช้งานจริงจากการก่อสร้างเพื่อการอยู่อาศัยที่ดียิ่งขึ้น การลดการใช้พลังงาน และการลดต้นทุนการซ่อมแซมในระยะยาว รวมถึงการให้คำปรึกษาจากทีมงานเทคนิคที่เชี่ยวชาญทำให้เกิดประสิทธิภาพ และคุณภาพในการก่อสร้างที่ดียิ่งขึ้น สร้างความพึงพอใจให้ผู้ใช้ และผู้อยู่อาศัยมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสามารถนำมาต่อยอดธุรกิจขายปลีก และขายส่ง รวมถึงทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก และยอมรับในคุณภาพที่มากขึ้น ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain ทั้งระบบ เพื่อส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีสู่ผู้อยู่อาศัย และประโยชน์สูงสุดกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด

นางสาวศิวารยา ศรีติรัตน์

ตลาดคอนโดฯระดับกลางยังชะลอตัว สต๊อกค้างอีกเพียบ

นางสาวศิวารยา ศรีติรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แซง-โกแบ็ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดวัสดุก่อสร้างในปี 2567 นั้นมองว่าตลาดบ้านแนวราบยังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งบ้านสร้างใหม่ และบ้านที่รีโนเวท อันเนื่องมาจากหลังวิกฤติโควิด-19 ได้ส่งผลให้พฤติกรรมการอยู่อาศัยเปลี่ยนไป คนหันมาทำงานที่บ้านมากขึ้น ขณะที่ภาพรวมตลาดคอนโดฯ ระดับกลาง ยังชะลอตัว ซัพพลายในตลาดยังมีค้างสต๊อกอีกมาก ขณะที่คอนโดฯราคาสูงยังขายได้อยู่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับแซง-โกแบ็งฯนั้น ในด้านกำลังการผลิตยังสามารถซัพพลายได้ทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังไม่สูงเท่ากับในช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 ซึ่งยังอยู่ในระดับเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยกำลังการผลิตในปี 2566 อยู่ที่เกือบ 90% และคาดว่าในปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 90% แต่จะมีการผลิตเพิ่มของสินค้าประเภทนวัตกรรม เช่น ระบบผนังที่ใช้ภายนอก “กลาสร็อค เอ็กซ์” ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทฯนำเสนอให้กับตลาดก่อสร้างในประเทศไทยเป็นรายแรก และได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการอสังหาฯทั้งแนวราบและแนวสูง เป็นอย่างมาก ทำให้ยอดผลิตสินค้ามีอัตราการเติบโตเป็นอย่างมาก

และในปี 2567 จะมุ่งเน้นในเรื่องนวัตกรรมโซลูชัน ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยลูกค้าหลัก ประกอบด้วย ผู้ประกอบการอสังหาฯ,ผู้รับเหมาก่อสร้าง,ลูกค้าที่ก่อสร้างบ้านทั่วไป และช่างก่อสร้างบ้าน อีกทั้งมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตวัสดุก่อสร้าง เพื่อลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต โดยเป็นเทคโนโลยีที่ค้นคว้าไว้นานแล้ว จึงสามารถตอบโจทย์ และสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ แม้ว่าจะมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อต้นทุน เพราะเทคโนโลยีที่นำมาใช้ กลับจะทำให้ช่วยลดต้นทุน

มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593

ด้านการแข่งขันวัสดุก่อสร้างยอมรับว่ามีสูง แต่บริษัทฯก็จะชูจุดแข็งในเรื่องเน้นความยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่องค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และมองว่าบริษัทฯยังเป็นผู้นำในเรื่องดังกล่าวอยู่ เพราะมีการให้คำปรึกษา ในด้านความรู้ ความเข้าใจ ทุกภาคส่วนที่อยู่ใน Value Chain ซึ่งถือว่าแตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น โดยในปี 2566 มีรายได้รวมประมาณ 8,000 ล้านบาท และ 2567 ตั้งเป้าเติบโต 5-10%

“เราเน้นเรื่องความยั่งยืนมาตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจ และมาเข้มข้น ดำเนินการให้ชัดเจน มากขึ้นหลังจากที่มีการทำสัญญาความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี 2558 ซึ่งยอมรับว่าในประเทศไทยยังทำได้ยาก เพราะยังมีการับรู้ที่น้อย โดยทั้งเรื่องการก่อสร้าง การดีไซน์ จะทำอย่างไรให้ลดการใช้พลังงานได้มากที่สุด แต่ก็คิดว่าสุดท้ายแล้วประเทศไทยน่าจะทำได้ เพราะมีผู้เชี่ยวชาญเป็นจำนวนมาก เพียงแต่ขาดการสนับสนุนในการให้ข้อมูล”

นายปาทรีซ บาร์

ไทยยังปล่อยคาร์บอนฯเทียบเท่าตึก 300 ชั้น

นายปาทรีซ บาร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บวิค-ไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทยมากว่า 20 ปี ซึ่งให้การสนับสนุนลดการปล่อยคาร์บอนมาโดยตลอด และพบว่าเป็นความท้าทายในอุตสาหกรรมการก่อสร้างเป็นอย่างมาก ซึ่งจะโฟกัสในเรื่องของ การใช้คอนกรีตในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ว่าทำอย่างไรจะสร้างให้เป็นอาคารที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งที่ประสบก็คือ ในวัตถุดิบต่างๆ พยายามจะลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุด ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือกับลูกค้าและซัพพลายเออร์ต่างๆด้วย ซึ่งสร้างแพลตฟอร์มต่างๆขึ้นมา เช่น ใช้รถบรรทุก น้ำมันประเภทไหน เมื่อได้ผลลัพธ์ต่างๆก็นำมาประเมินว่ามีการปล่อยคาร์บอนมาน้อยเพียงใด โดยมีการประเมินทุก 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ซึ่งใช้เวลานานพอสมควรในการวิเคราะห์ว่าส่วนที่ปล่อยคาร์บอนในไซต์งานมีเท่าไหร่บ้าง โดยจะทำให้เกิดความเหมาะสมมากที่สุด โดยจัดหมวดหมู่ซัพพลายเออร์เป็น 4 หมวดหมู่ ว่าซัพพลายเออร์ไหนปล่อยคาร์บอนมากที่สุด

 

“คิดว่าผู้กำกับดูแล มีความสำคัญ อาคารที่เกิดขึ้นหลายปี จะต้องสร้างให้เป็นอาคารที่ประหยัดพลังงาน ปล่อยคาร์บอนได้น้อยลง โดยมีการปรับปรุงอาคารที่เก่าแก่ ซึ่งในประเทศไทยมีการปล่อยคาร์บอนเป็นจำนวนมาก เทียบกับอาคารสูงถึง 300 ชั้นเลยทีเดียว

นายเอกสิทธิ์ ลุคนานิธิพันธุ์

เดินหน้าสร้างห่วงโซ่ที่มีคุณภาพ

ด้านนายเอกสิทธิ์ ลุคนานิธิพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจและพัฒนาธุรกิจคาร์บอนต่ำ กลุ่มบริษัท ดาว(ประเทศไทย)จำกัด กล่าวว่า ดาวฯเป็นบริษัทฯที่ดำเนินธุรกิจด้านความยั่งยืนของวัตถุดิบ โดยผลิตวัตถุดิบและสนับสนุนด้านความยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ยั่งยืน ซึ่งโฟกัสในเรื่องของ Packaging รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์ ซึ่งบริษัทผลิต ผลิตภัณฑ์ทั้งด้านเฮลท์แคร์ และความงาม อย่างแรกคือ ต้องการนำของกลับมาใช้ ซึ่งทำให้เกิดเป็นกระบวนการ ให้ขยะพลาสติกเป็นขยะที่มีคุณภาพด้วยการสร้างเป็นห่วงโซ่ที่มีคุณภาพ

 

“ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นการเดินทางไปสู่ความยั่งยืนของเรา ไม่ว่าจะเป็นการลดขยะ หรือรีไซเคิลขยะ เพื่อทำความยั่งยืนให้เป็นในเชิงพาณิชย์ รวมไปถึงการสนับสนุนความยั่งยืนในหลายๆด้านด้วยกัน”

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี

จุฬาฯเริ่มหนุนจากให้ขยะเป็นศูนย์ หวังศก.อนาคตหมุนเวียนเชิงบวก

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถาบันดังกล่าวเป็นหน่วยงานใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาไม่กี่ปี ที่วิจัยเกี่ยวกับสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการจัดการขยะที่เป็นของแข็ง และการเชื่อมโยมเศรษฐกิจหมุนเวียน หากพูดในไทยก็จะรวมไปถึงการประหยัดพลังงานด้วย และออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นความยั่งยืน ซึ่งทางจุฬาฯได้มีการริเริ่มให้ขยะเป็นศูนย์ เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการนำขยะมาใช้ประโยชน์ ซึ่งได้ทำงานกับกทม.(BMA) และทำเป็นโครงการนำร่องระดับประเทศ ในเขตหนองแขม ปทุมวัน และกทม. ซึ่งทำให้เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนส่งผลในเชิงบวก และได้เห็นว่า ระบบนิเวศในเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นมีหลายองค์กรที่ให้การสนับสนุนเป็นจำนวนมาก
นายเสถียร เลี้ยววาริณ

ผลักดันธุรกิจทางด้านการเงินให้ตรงตามมาตรฐาน

นายเสถียร เลี้ยววาริณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายความยั่งยืน บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด(มหาชน) หรือ SCBX กล่าวว่า วิธีที่จะทำให้เกิดประสบความสำเร็จ ก็ต้องมีเงินทุน ซึ่ง SCBX ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งเช่นกัน และตั้งเป้าความเป็นศูนย์กลางทางคาร์บอนในในปี 2593 และปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้สร้างศูนย์กลางความเป็นสีเขียว จากสนธิสัญญาปารีส ซึ่งพยายามที่จะก้าวไปให้ถึงเป้าหมาย และปีนี้มุ่งเน้นไปที่ภาคส่วนด้านพลังงาน ส่วนการเงินมุ่งเป้าด้าน Playbookไปที่ปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ.2573) และบริบทของธุรกิจไม่ใช่ธนาคารเพียงอย่างเดียว แต่โฟกัสไปถึงการลงทุน สภาพภูมิอากาศ ที่นำเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ Climate Change และได้มีการทำวิจัยว่าอะไรเป็นปัญหาด้านภูมิอากาศในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า รวมไปถึงภาคการเกษตรด้วย ซึ่งพยายามให้องค์กรต่างๆมีความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero ด้วย

 

“ธนาคารได้โฟกัสว่าอะไรคือผลกำไร ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายของบอร์ด ว่าจะทำอย่างไรให้โลกน่าอยู่มากขึ้น ซึ่งชื่นชอบนโยบายของ แซง-โกแบ็ง เป็นอย่างมาก คิดว่าอีก 20 กว่าปีข้างหน้า ไม่ใช่เรื่องที่นานเลย จึงคิดว่าทุกคนต้องร่วมกับรับผิดชอบ ซึ่งธนาคารได้ผลักดันธุรกิจทางด้านการเงินของเรา ให้ตรงตามมาตรฐาน รวมไปถึงผลกระทบต่อสุขภาพของทุกคนด้วย”

นายเฑียร จึงวิรุฬโชตินันท์

แนะตั้งหน่วยงานตรวจสอบรายงานผลองค์กรที่เข้าสู่“Carbon Neutrality” 

นายเฑียร จึงวิรุฬโชตินันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท คอรัล ไลฟ์ จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างถือว่ามีการปล่อยคาร์บอนมาก ซึ่งต้องดูวัตถุดิบที่ได้รับการรับรอง Green Label และมองไปถึงต้นกำเนิดวัตถุดิบด้วย เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่สำคัญ โดยเทรนด์ระดับโลกที่ตระหนักคือ การลดการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ ทุกคนตั้งเป้าเหมือนกันเพื่อสู่เป้าหมาย คือ การที่จะทำให้อุณหภูมิไม่สูงขึ้นไปกว่าที่สนธิสัญญาปารีสกำหนด รักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิในช่วงก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดให้อุณภูมิโลกต่ำกว่านั้นประมาณ 1.5 องศาเซลเซียสซึ่งหลายๆประเทศได้พยายามที่จะปรับตัว และหลายบริษัทก็ต้องเร่งดำเนินการ และอนาคตข้างหน้าจะต้องวัดว่าแต่ละบริษัทฯที่รายงานผลมานั้น ดำเนินการจริงหรือไม่ ซึ่งจะต้องมีบริษัทที่เข้าไปดำเนินการด้านนี้ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย

 

คงต้องมาลุ้นกันว่าภาคอุตสาหกรรมวัสดุและก่อสร้างไทย รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ จะก้าวขับเคลื่อนสู่องค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 ได้หรือไม่

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*